ประเภทของ Statement of Purpose – เราได้เรียนรู้ทั้งวิธีเขียน และ องค์ประกอบของ SOP ไปแล้ว ในตอนนี้ขอเสริมในเรื่องของประเภท SOP เพิ่มเติมเสียหน่อย ว่า Statement of Purpose มีกี่ประเภท? ในการสมัครเรียนแต่ละสถาบันของแต่ละประเทศอาจมีการกำหนดประเภท SOP ที่แตกต่างกันเอาไว้ จริงๆ แล้วต้องขอบอกก่อนว่านี่อาจไม่ใช่เป็นสาระสำคัญอะไรมาก เพียงแต่อยากให้รู้จักกับรูปแบบที่หลากหลายของ SOP ที่เราจะต้องเจอเมื่อสมัครเรียนต่อ
ประเภทของ Statement of Purpose แบ่งตามรูปแบบ
Statement of Purpose ประเภททั่วไป (paper format)
SOP ประเภทนี้จะพบเห็นได้บ่อยที่สุด มักจะเป็นรูปแบบเรียงความที่ให้อิสระผู้เขียนได้เขียนเต็มที่ โดยเราอาจจะยึดตาม องค์ประกอบของ SOP โดยมาตรฐานไว้ ส่วนมากมหาวิทยาลัยมักจจะกำหนดกฎเกณฑ์ ข้อบังคับในการเขียนไว้บ้าง เช่น อาจมีการกำหนดความยาว ได้แก่ จำนวนคำ จำนวนหน้า จำนวนตัวอักษรไว้อย่างชัดเจน และมีการแนะนำการจัดรูปแบบ อาทิ ขนาดฟอนต์ ประเภทฟอนต์ การเว้นบรรทัด ฯลฯ วิธีการเขียน SOP ประเภทนี้ ต้องวางโครงเรื่อง(outline)ให้ดี นำเสนอจุดแข็งของตัวเราและความเหมาะสมต่อหลักสูตรที่สมัครให้ครบถ้วนทุกประเด็น บางครั้งมหาวิทยาลัยอาจมีแนะนำประเด็นที่ควรเขียนใน SOP ไว้บ้าง เราอาจจะลองหา SOP Guideline ดูในเว็บไซต์มหาวิทยาลัยก่อนก็ได้ เพื่อไม่ให้ตกในประเด็นสำคัญที่มหาวิทยาลัยต้องการ
Statement of Purpose ประเภท คำถาม-ตอบ (Question-answer)
สำหรับ SOP ประเภทนี้ จะพบได้ค่อนข้างบ่อยครั้งเช่นกัน ก็จะเป็นลักษณะการถามคำถาม ให้ผู้สมัครตอบเป็นข้อๆ อาจจะให้พื้นที่ในการตอบแต่ละประเด็นระหว่าง 150-200 คำ คำถามที่ถูกถามบ่อยใน SOP ประเภทนี้ก็คือ “องค์ประกอบทั่วไปของ SOP” เช่นเดียวกับข้อด้านบน อาทิ เหตุผลที่สมัครเรียน เป้าหมายในอนาคต เป้าหมายหลังสำเร็จการศึกษา แผนการศึกษา ฯลฯ รวมคำถามทุกข้อแล้ว เราน่าจะต้องคิดคำตอบระหว่าง 700-1000 คำ ไม่ต่างจาก SOP ประเภทปกติ(ข้างบน) ผู้สมัครบางคนอาจจะชอบ SOP แบบคำถาม-คำตอบแบบนี้ เพราะมหาวิทยาลัยกำหนดประเด็นที่อยากให้ผู้สมัครนำเสนอมาให้แล้ว
Statement of Purpose ประเภทกำหนดหัวข้อเรียงความ
SOP ประเภทนี้ ถือเป็นประเภทพิเศษ พบเจอได้ไม่บ่อยมัก หลายครั้งจะพบ SOP ประเภทนี้ได้จากหลักสูตรและมหาวิทยาลัยที่มีการแข่งขันสูง เช่น IVY League / Group of 8 หรือหลักสูตรที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถทางภาษา หรือเรียงความขอทุนการศึกษา หัวข้อเรียงความมีตั้งแต่เชิงจริงจัง ให้วิเคราะห์ วิจารณ์ แสดงทัศนคติต่อประเด็นต่างๆ บางครั้งก็เจอหัวข้อแบบหลุดโลกไปเลย ประมาณว่าให้ผู้สมัครแสดงความคิดสร้างสรรค์และความสามารถทางภาษาเต็มที่ ลองดู “30 หัวข้อเรียงความเรียนต่อสุดแปลก” ก็จะได้เห็นภาพคร่าวๆ ว่าเราหมายถึงอะไร
Statement of Purpose แบบออนไลน์ (online submission)
ในการสมัครเรียนบางสถาบัน ผู้สมัครจะต้องยื่นเอกสารทุกอย่างออนไลน์ รวมถึง SOP ด้วย ลักษณะคือการกรอกฟอร์มสมัครเรียนออนไลน์ สำหรับเนื้อหา SOP รูปแบบออนไลน์นี้ จะไม่ต่างจากแบบทั่วไป(paper) เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการส่งไฟล์ คือ แทนที่จะส่งไฟล์ .doc, .pdf เราต้องพิมพ์หรือคัดลอกเนื้อหา SOP ของเราใส่ในระบบออนไลน์ของสถาบันแทน ข้อดีคือไม่ต้องมมีการจัดรูปแบบ ไม่ต้องกังวลเรื่องฟอนต์ ขนาดฟอนต์หรือการเว้นบรรทัดใดๆ เพราะระบบจะจัดการให้ ต้องทำตามระบบกำหนด ตัวอักษรเกิน 1 ตัวก็ทำให้ระบบไม่รันได้ ประเภทออนไลน์ Online Admission ที่พบได้บ่อย เช่น UCAS, CUCAS(China)
Statement of Purpose ที่แบ่งประเภทตามสาขาวิชาและระดับ
ในหลายครั้งผู้คนนิยมเรียกประเภทของ SOP ตามสาขาวิชาที่สมัครเรียน ซึ่งในแต่ละประเภท(สาขา) เรียงความเรียนต่อก็มักจะมีเนื้อหาและแนวทางการเขียนที่แตกต่างกันพอสมควร โดยยึดหลักการ “นำเสนอจุดแข็งและความเหมาะสมผู้สมัครต่อหลักสูตร” ในแต่ละประเภท นอกจากจะพูดถึงประสบการณ์การเรียน การทำงานของตัวผู้สมัครแล้ว ยังมักนำเสนอประเด็นเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสาขานั้นๆ โดยตรง มีการใช้คำสำคัญหรือคีย์เวิร์ด คำศัพท์เฉพาะ มีการนำเสนอมุมมองหรือความรู้เฉพาะด้านของผู้สมัคร ตัวอย่าง Statement of Purpose ที่แบ่งประเภทตามสาขาวิชา ได้แก่
- สายบริหารธุรกิจ เช่น Statement of purpose for MBA (SOP สมัครสาขาบริหารธุรกิจ)
- SOP for Master Marketing สมัครสาขาการตลาด
- SOP for MSc Finance สมัครเรียนต่อป.โทสายการเงิน
- สายวิทยาศาสตร์ SOP for Ph.D. Biology สมัครป.เอกสาขาชีววิทยา
- หรือสายวิศวะฯ เช่น SOP for Master Civil Engineering สมัครป.โท วิศวกรรมศาสตร์
- สายสังคม เช่น SOP for Bachelor Political Science สมัครเรียนด้านรัฐศาสตร์
- สายกฎหมาย SOP for LL.M/Law schools สมัคเรียนต่อป.โทกฏหมาย
- ฯลฯ
ตอนนี้เราทราบแล้วว่า Statement of Purpose มีกี่ประเภท ขอย้ำอีกทีว่า SOP เป็นเรียงความสมัครเรียนต่อ (Admission Essay) ประเภทหนึ่งที่ “ไม่มีรูปแบบตายตัว” เราอาจต้องเจอหลายรูปแบบ(ประเภท) ถ้าสมัครเรียนหลายที่พร้อมกัน อย่างไรก็ได้ “หัวใจการการทำ SOP” คือต้องใส่องค์ประกอบสำคัญให้ครบ ที่เน้นความสามารถ จุดแข็ง และเป้าหมายในการเรียน รวมถึงแผนในอนาคตของผู้สมัคร และผู้สมัครควรทำความเข้าใจข้อกำหนดของสถาบันในการรับสมัครทุกครั้งก่อนลงมือทำเรียงความ SOP
เรียบเรียงโดย PWK Translation – All Rights Reserved
ถ้าใครอยากปรึกษาเรื่องการเขียน SOP Statement of Purpose และ Admission Essay ประเภทอื่นๆ (Study Plan, Motivation letter, Personal Statement) สมัครเรียนต่อต่างประเทศ ปรึกษาเราได้นะ ยินดีให้คำปรึกษาฟรี!
SOP, Personal Statement, Study Plan, Motivation Letter สมัครเรียนต่อในและต่างประเทศ
ฝากติดตาม Facebook เราหน่อย https://www.facebook.com/pwktranslation/
Leave a Reply