องค์ประกอบของ CV/Resume – การทำประวัติย่อส่วนตัวควรใส่ข้อมูลอะไรลงไปบ้าง? CV Resume ถือเป็นเอกสารสำคัญ ซีวีหรือเรซูเม่ที่ดีควรมีองค์ประกอบที่ครบถ้วน เพื่อสนับสนุนให้ผู้อ่านได้รู้ข้อมูลและเห็นความสอดคล้องของคุณสมบัติผู้สมัครต่อหลักสูตรหรือตำแหน่งงานที่สมัครอย่างมากที่สุด วันนี้เราจะมาลองทำความรู้จักองค์ประกอบ CV Resume โดยทั่วไปว่ามีอะไรบ้าง มาดูกันว่า”ประวัติส่วนตัว”ในรูปแบบมาตรฐานสากลควรมีข้อมูลอะไรที่สำคัญแก่คณะกรรมการคัดเลือก ควรจัดลำดับส่วนต่างๆ อย่างไร ทั้งในการสมัครงานและสมัครศึกษาต่อในไทยและต่างประเทศ
องค์ประกอบแรก คือ “Personal Data”
คือส่วน “ข้อมูลส่วนบุคคล” ซึ่งประกอบด้วย ชื่อ-สกุล สัญชาติ อายุ(วันเกิด) เพศ ข้อมูลติดต่อ (ที่อยู่ อีเมล เบอร์โทรศัพท์ โซเชียลมีเดีย) รูปถ่าย
ระวังการตกลงข้อมูล เช่น ชื่อผิด ที่ติดต่อผิด ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านที่เป็นคณะกรรมการคัดเลือกนั้นได้รับความไม่สะดวกในการติดต่อตัวผู้สมัครกรณีที่โปรไฟล์น่าสนใจ จนบางครั้งถึงกับต้องตัดสิทธิผู้สมัครเพราะติดต่อไม่ได้
ส่วนประกอบต่อไปคือ “Objective”
ในส่วนนี้ส่วนมากจะถัดลงมาจากส่วน Personal Data ส่วนนี้จะระบุว่า CV Resume ฉบับนี้ทำขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ใด เช่น “เพื่อสมัครงานตำแหน่ง….” “เพื่อสมัครเรียนหลักสูตร…” โดยหลายครั้งที่ส่วนนี้จะถูกประยุกต์เอาข้อมูลอื่นเข้ามาใส่ด้วย อาทิ สรุปย่อโปรไฟล์(Profile summary, Overview) หรือข้อความโฆษณาจุดเด่น จุดแข็งของผู้สมัคร ลักษณะเป็นประโยคหรือวลี 2-3 บรรทัด และเน้นย้ำว่าผู้สมัครกำลังมองหาตำแหน่งงานประเภทใดหรือต้องการเรียนหลักสูตรใด
“Education” ประวัติการศึกษา
อีกหนึ่งส่วนสำคัญที่จะระบุว่าประสบการณ์ด้านการศึกษาของผู้สมัครสอดคล้องกับสิ่งที่สถาบัน มหาวิทยาลัย หรือบริษัทต้องการหรือไม่ เพราะไม่ว่าตำแหน่งงานหรือหลักสูตรเรียนต่อที่สมัครมักจะกำหนดสาขาวิชาที่สำเร็จการศึกษาทุกครั้ง ส่วนประวัติการศึกษาใน CV/Resume นั้นควรระบุรายละเอียดที่ชัดเจนแต่ไม่ยืดยาว ได้แก่ ชื่อสถาบันการศึกษา คณะ หลักสูตร ปีที่สำเร็จการศึกษา รวมถึงรายละเอียดที่อาจจะจำเป็น เช่น โครงการวิจัย ไฟนอลโปรเจค วิชาที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่ GPA (ถ้าเรามีผลการเรียนที่ดี)
“Work experience” ประวัติการทำงาน
ส่วนที่สำคัญและควรให้รายละเอียดเท่าๆ กับส่วนการศึกษา คือควรระบุชื่อบริษัท หน่วยงาน แผนก ตำแหน่งที่เคยทำงาน ระบุช่วงเวลา(เดือน ปี) ให้ชัดเจน อธิบายหน้าที่คร่าวๆ พยายามเน้นความสำเร็จหรือผลจากการทำงานมากกว่า อย่า! คัดลอก job description จากหน้าเว็บไซต์สมัครงานมาใส่ใน CV Resume เด็ดขาด และไม่ลงรายละเอียดเกินไป อาทิ หน้าที่รับโทรศัพท์ หน้าที่ตอบอีเมล หน้าที่ปิดไฟห้องประชุม หน้าที่ทำตามเจ้านายสั่ง คือหน้าที่เหล่านี้ดูทั่วไปจนไม่สามารถทำให้ผู้สมัครดูโดดเด่นขึ้นมาได้ และเป็นงานที่ใครๆ ก็ทำ
*บางครั้งจะมีการสลับเอาประวัติการทำงานขึ้นก่อนประวัติการศึกษา อันนี้แล้วแต่เงื่อนไขการสมัครและความต้องการผู้สมัครว่าต้องการเน้นอะไรมากกว่ากันระหว่างการทำงานหรือการศึกษา โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับสิ่งที่กำลังสมัคร เช่น ถ้ากำลังสมัครงานที่ตรงกับสิ่งที่เราเรียนมาโดยตรง ก็อาจจะเอาส่วนการศึกษาขึ้นก่อนและเน้นรายละเอียดที่มากหน่อย
“Skills” ทักษะ ความสามารถ
ส่วนทักษะหรือความสามารถใน CV Resume นี้ ส่วนมากจะระบุความสามารถด้านภาษา ซึ่งอาจจะระบุความสามารถในการอ่าน พูด ฟัง เขียน และหลายครั้งจะใส่คะแนนภาษาด้วย อีกทั้งยังมีความสามารถด้านอื่นๆ ที่ควรใส่ โดยเฉพาะด้านเทคนิค ความรู้ในโปรแกรม ซอฟท์แวร์ ระบบปฏิบัติการ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ รวมถึง Soft skills & hard skills ที่เหมาะสมไปตามตำแหน่งงานหรือหลักสูตรต้องการ
“Achievement” ความสำเร็จ
ส่วน Achievement ใน CV/Resume จะแสดงความสำเร็จ ความภาคภูมิใจ อันได้แก่ การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นที่ยิ่งใหญ่ การแข่งขัน การได้รับคัดเลือกในเรื่องใดๆ การได้ทุนการศึกษา การได้รับรางวัลต่างๆ ระวัง! เราจะไม่ใส่รางวัล ความสำเร็จทุกอย่างของชีวิต อาทิ รางวัลประกวดมารยาทงาม รำไทย คัดลายมือสมัยอนุบาล เราต้องคัดเลือก “ความสำเร็จ” ที่สอดคล้องกับจุดประสงค์ของหลักสูตรและตำแหน่งงาน
“Interest” ความสนใจ
ส่วน “ความสนใจ” “งานอดิเรก” ของ CV/Resume ไม่ได้มีไว้ใส่เอาสนุกอย่างเดียวนะ ไม่ใช่ว่าใส่ความสนใจทุกอย่างในชีวิต ควรเลือกเอาความสนใจที่เรา “สนใจที่สุด” สัก 2-3 อย่าง และควรระบุรายละเอียดเพิ่มเติมสักเล็กน้อย เช่น ถ้าบอกว่าสนใจ “อ่านหนังสือ ก็ควรระบุว่าชอบอ่านประเภทไหน อ่านอะไรบ้าง ยกตัวอย่างนักเขียนที่ชอบสักหน่อย” จะทำให้ผู้อ่านรู้ว่า “ผู้สมัครคนนี้ไม่ธรรมดา”
*ทริคก็คือถ้าความสนใจของเราสอดคล้องกับจุดประสงค์หลักสูตรหรือตำแหน่งงานที่สมัคร ยิ่งจะทำให้โปรไฟล์เราดูดีขึ้น แต่ถ้าบางอย่างแปลก พิลึก หลุดโลกเกินไปที่อาจทำให้ผู้อ่านตกใจ ก็อย่าเอามาใส่ดีกว่านะ
“Reference” ส่วนบุคคลอ้างอิง
ส่วนนี้ไว้ในใช้ระบุ “บุคคลอ้างอิง” ในกรณีทั่วไปถ้าตำแหน่งงานไม่ขอ เราใช้คำว่า “Available upon request” หรือจะไม่ใส่ก็ได้ แต่ถ้าการสมัครเรียนต่อต่างประเทศ ส่วนมากจะขอ Reference (LOR) 2 ฉบับ ในส่วนนี้เราก็จะใส่ชื่อ-สกุล ตำแหน่ง หน่วยงาน ที่ติดต่อของบุคคลอ้างอิงที่เขียน LOR/Reference ให้เรา ดูว่า LOR คืออะไร
ส่วนพิเศษอื่นๆ
ส่วนพิเศษอื่นๆ ตามลักษณะงานและระดับ เช่น นักวิจัยอาจจะเพิ่มส่วนผลงานตีพิมพ์ โครงการวิจัยที่เข้าร่วม สถาปนิกอาจจะเพิ่มส่วน Project Portfolio หรือรายชื่องานออกแบบที่เคยทำ ทั้งของตนเองและที่ร่วมกับคนอื่น อะไรมาณนั้น
CV Resume ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว
ทราบกันแล้วว่า องค์ประกอบของ CV/Resume มีอะไรบ้าง แม้มาตรฐานสากลจะกำหนดองค์ประกอบทั่วไปไว้ แต่ก็ไม่มีข้อบังคับว่าห้ามแต่งเติมหรือปรับรูปแบบเป็นแบบใดอื่น หรือจะใส่องค์ประกอบอื่นที่จำเป็นและสอดคล้องกับข้อกำหนดหลักสูตรและตำแหน่งงาน ก่อนจะทำ CV Resume ต้องดูความต้องการของหลักสูตรและตำแหน่งงานเป็นหลัก อ่านทำความเข้าใจ Job description / Program’s objective เสียก่อน จากนั้นค่อยกำหนดองค์ประกอบของประวัติส่วนตัวของคุณ
การทำประวัติส่วนตัว CV/Resume เป็นศาสตร์และศิลป์ ที่ต้องใช้ความรู้(ศาสตร์)ในการเสนอข้อมูลให้ถูกต้อง ตรงประเด็น ตามหลักภาษา ใส่องค์ประกอบที่ครบถ้วน และใช้ศิลปะในการจัดรูปแบบให้เหมาะสม ใช้คำสำคัญ(คีย์เวิร์ด)ที่ตรงใจผู้อ่าน การเพิ่มหรือลดองค์ประกอบให้สอดคล้องที่สุด
Leave a Reply