ให้ใครเขียน LOR ให้ดี – อีกประเด็นสำคัญในการทำจดหมาย Letter of Recommendation หรือ Reference คือ จะให้ใครเป็นบุคคลอ้างอิง Reference หรือ Recommender ดี ? การเลือกบุคคลอ้างอิงมีส่วนสำคัญมากเพราะความสัมพันธ์และประสบการณ์ของบุคคลอ้างอิงที่มีต่อเรา จะเป็นตัวกำหนดประเด็น เนื้อหาจดหมาย LOR ว่าจะผู้สมัคร Applicant “รุ่ง” หรือ “ร่วง”
ก่อนจะเลือกใครมาเป็น Reference ให้ดูข้อกำหนดการสมัครก่อนนะ
ก่อนจะรู้ว่า “ให้ใครเขียน LOR ให้ดี” ในบางครั้ง การสมัครเรียนหรือสมัครงานมักจะกำหนดว่าต้องการจดหมาย LOR/Reference กี่ฉบับ และต้องการให้ใครเขียนจดหมายบ้าง เช่น ในการสมัครเรียนหลักสูตร MBA บางแห่งอาจจะต้องการ LOR 2 ฉบับ โดยฉบับแรกเขียนโดยอาจารย์ (Academic LOR) อีกฉบับเขียนโดยหัวหน้างานหรือบุคคลในองค์กร (Professional LOR) และดูข้อกำหนดอื่นๆ เช่น การจัดรูปแบบเป็นแบบใด มีฟอร์มเฉพาะในการเขียนจดหมาย LOR สำหรับสถาบันหรือบริษัทนั้นหรือไม่ จากนั้นเราจะได้ทราบข้อมูลว่าเราต้องติดต่อใครบ้าง จำนวนกี่คนเพื่อให้มาเป็นบุคคลอ้างอิง Recommender/Reference ของเรา
เลือก Reference/Recommender จาก “ความใกล้ชิด” ไม่ใช่ “ตำแหน่งที่ใหญ่โต”
ฟังดูอาจจะขัดแย้งกับวิถีที่เราคุ้นเคยกัน ว่าต้องใช้คนใหญ่คนโต CEO บริษัทเป็นคนเขียนจดหมายให้ถึงจะดูน่าเชื่อถือ ถึงจะน่าเกรงขาม แต่ทราบหรือไม่ว่า “ยิ่งใหญ่โต” เขายิ่งห่างไกลจากเรา บางครั้งคุณทำงานมา 5 ปีอาจจะไม่เคยเจอหน้า CEO บริษัทคุณตัวเป็นๆ ด้วยซ้ำ หรือตัวผู้บริหารสูงๆ เอง จะมีสักกี่คนที่เขาจำหน้าคุณได้ ยกเว้นว่าตำแหน่งพวกคูรใกล้เคียงกันและได้เคยทำงานใกล้ชิดกันจริงๆ กรณีแบบนี้ขอการันตีเลยว่า เขาไม่สามารถเขียนแนะนำคุณได้ดีหรอก ด้วยความขาดข้อมูลหรือประสบการณ์ ความสัมพันธ์ที่ได้เคยทำงานด้วยกันจริงๆ หรือลองจินตนาการนักศึกษาคนหนึ่งให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยเขียนแนะนำให้ ถึงแม้ท่านจะทรงคุณวุฒิ เพียบพร้อมด้วยความรู้แค่ไหน ถ้าไม่รู้จักตัวนักศึกษาอย่างดีแล้ว ย่อมไม่สามารถบรรยายคุณสมบัติของนักศึกษาได้อย่างแน่นอน
ดังนั้นคุณที่คนควรเลือก คือ คนที่เคยทำงานร่วมกับเราหรือมีความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกันโดยตรง อาจจะตลอดชีวิตการทำงาน หรือในโปรเจคหนึ่งๆ ก็ได้ เช่น หัวหน้าสายงาน(สายตรง) ที่เคยเห็นเราทำงาน แสดงความสามารถ แสดงความเป็นผู้นำหรือด้านดีอื่นๆ เพื่อนร่วมงานก็ได้นะ(ระวังความน่าเชื่อถือ ถ้าเป็นเพื่อนร่วมงานระดับ Junior) หรือหัวหน้าโครงการ ถ้าเป็นนักศึกษาควรเลือกอาจารย์ที่เคยสอนเราในสัก 2-3 วิชา และควรเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรากำลังสมัคร (ทั้งสมัครงานหรือสมัครเรียน) หรืออาจารย์ที่ปรึกษา Final Project เรา เป็นต้น
เลือกคนที่เคย “ชื่นชมเรา” บ้าง
ถึงเราจะเลือกคนเขียนจดหมาย LOR/Reference ให้จาก “ความใกล้ชิด” ก็ใช่ว่าจะได้ผลเสมอไป ต้องดูอีกด้วยว่าคนๆ นั้นเขามีความ “ชื่นชม” เราอยู่บ้าง หรือมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนเราในการสมัครเรียน สมัครงานที่ใหม่ มีความปรารถนาที่จะเห็นเราก้าวหน้า คราวนี้ต้องใช้ “เซ้นส์” หรือ “ความรู้สึกส่วนตัว” เองนะ ลองนึกดูให้ดีว่า มีใครคอยช่วยเหลือเรา มีใครเคยเอ่ยปากชมเรา หรือจะลองคุยเรื่องนี้เล่นๆ บนโต๊ะทานข้าวก่อนที่จะขอให้เขาเป็น Recommender ให้จริงๆ
ยกตัวอย่าง เราไม่ควรเลือก “เพื่อนร่วมงานที่แอบมีความอิจฉาเรา” หรือ “หัวหน้างานที่ไม่อยากให้เราลาออกไปเรียนต่อ” หรือ “อาจารย์ที่เคยหักจิตพิสัยเรา 10 คะแนนโดยไม่มีสาเหตุ” หรือ “หัวหน้าแผนกที่มีนโยบายต่อต้านการเปลี่ยนองค์กร”
“ความน่าเชื่อถือ” สำคัญ
อันนี้แล้วแต่เกณฑ์ของ HR หรือฝ่ายรับสมัครของสถาบันหรือบริษัทแต่ละแห่งเลย ว่าระดับไหนถึงจะเรียกว่า “น่าเชื่อถือ” สำหรับพวกเขา โดยทั่วไปถ้าเป็น Academic Reference/LOR อาจารย์ที่มาจากสถาบันเดียวกันก็ถือว่าน่าเชื่อถือแล้ว หรือถ้าเป็น Professional LOR ระดับหัวหน้างาน หัวหน้าโครงการ หัวหน้าแผนกก็น่าจะเพียงพอ บางครั้งเพื่อนร่วมงานที่มีประสบการณ์ทำงานมาในระยะหนึ่ง (ระดับ Senior) ก็ยังใช้ได้ โดยเราไม่จำเป็นต้องทาบทามท่านประธานบริษัทหรือผู้บริหารระดับสูงใดๆ มาเป็นคนลงชื่อจดหมาย Recommender ของเรา
นี่คือข้อแนะนำเบื้องต้นในการเลือกบุคคลอ้างอิงมาเป็นผู้ลงชื่อจดหมาย Letter of Recommendation / Reference ให้เรา อย่าเรื่อง “ข้อควรระวังในการทำจดหมาย LOR” ส่วนเรื่อง “เทคนิคและวิธีการขอให้ใครมาเป็น Reference” คงต้องขอยกไว้เป็นตอนหน้า หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับท่านในการเตรียม LOR สำหรับเรียนต่อหรือสมัครงาน
เรียบเรียงโดย PWK Translation – All Rights Reserved
หากยังไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ปรึกษาฟรี! ให้มืออาชีพเขียนจดหมายแนะนำ LOR ให้คุณ พร้อมให้หัวหน้างานหรืออาจารย์ลงชื่อทันที
LOR Recommendation – Reference letter สมัครเรียนต่อ
LOR Recommendation – Reference letter สมัครงาน ฝึกงาน
Leave a Reply