10 ข้อผิดพลาดในการเขียน Statement of Purpose SOP – ในหลายตอนที่ผ่านเราได้แนะนำหลักการสำคัญต่างๆ ในการเขียน SOP ตั้งแต่ความหมาย ประเภท ความสำคัญ องค์ประกอบ การจัดรูปแบบและวิธีการเขียน SOP ในตอนนี้ขออนุญาตินำเสนอเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อผิดพลาดที่พบบ่อยที่สุดในการทำ SOP ที่ผู้สมัครเรียนต่อต่างประเทศต้องพึงระวังในการเขียนเรียงความเรียนต่อของตนเอง ข้อผิดพลาดนั้นจะมีอะไรบ้าง
1. ไม่ทำความเข้าใจและประเมินหลักสูตรที่สมัคร
บางคนไม่สามารถตอบตนเองได้ด้วยซ้ำว่าทำไมเลือกเรียนหลักสูตรและสถาบันนี้ ไม่ได้รู้จักจุดประสงค์และเนื้อหาวิชาของหลักสูตร ไม่เข้าใจคุณสมบัติที่มหาวิทยาลัยต้องการ เรียกได้ว่าไม่มีความเข้าใจในหลักสูตรและสถาบันที่สมัคร ทำให้ไม่สามารถประเมินหลักสูตรได้ว่าเหมาะสมกับตนเองขนาดไหน และผลก็คือ ไม่ใช่การทำ SOP ออกมาไม่ดีเท่านั้น การสมัครเรียนต่อนั้นมักไม่ประสบผลสำเร็จอีกด้วย
2. ไม่อ่านคู่มือการสมัคร
คู่มือการสมัครเรียน (Application Guideline) มีส่วนสำคัญมากในการสมัครเรียน นอกจากจะอธิบายหลักสูตรเพิ่มเติมอย่างละเอียดแล้ว มักจะให้คำแนะนำขั้นตอนการสมัครอย่างละเอียด รวมถึงข้อแนะนำในการทำเอกสารด้วย บ่อยครั้งที่คู่มือการสมัครจะแนะนำวิธีการเขียน SOP ได้แก่ การจัดรูปแบบ กำหนดความยาว รวมถึงประเด็นหรือองค์ประกอบที่เหมาะสมของ SOP บางสถาบันอาจจะมีการกำหนดเนื้อหาของเรียงความสมัครเรียนต่อที่แตกต่างออกไป ทำให้ผู้สมัครที่ละเลย “ไม่อ่านคู่มือการสมัคร” ทำเอกสารออกมาได้ไม่ดี
3. ไม่วางโครงเรื่องก่อนลงมือเขียน
วิธีการเขียน SOP อย่างที่แนะนำในตอนก่อนหน้า คือ ต้องมีการระดมความคิด กำหนดประเด็นที่จะนำเสนอ และ “ต้องวางโครงเรื่อง”(outline) ก่อนทุกครั้ง เพราะนอกจากจะให้เราจัดลำดับประเด็นสำคัญได้ดีแล้ว ยังทำให้งานเขียน SOP เราไม่วกวน ยืดยาว และช่วยให้เนื้อหาแต่ละพารากราฟของเราน่าอ่าน ประเด็นไม่ปะปนกัน และยังทำให้ผู้เขียนมีสมาธิยึดมั่นต่อแต่ละประเด็นขณะทำการเขียนอีกด้วย
4. ใส่เรื่องราวทุกอย่างในชีวิต
หลายคนกำลังใช้เนื้อที่ SOP ของตนเองอย่างสิ้นเปลือง โดยการเขียนซ้ำกับสิ่งที่อยู่ใน CV/Resume ประวัติส่วนตัวของตน และพยายามเล่าทุกเหตุการณ์ในชีวิตที่ทำให้ตนเองมาอยู่จุดนี้ ณ ปัจจุบัน วิธีการนี้ผิด! นอกจากจะทำให้พื้นที่การเขียนไม่เพียงพอแล้ว ผู้อ่านยังไม่สามารถจับประเด็นความสำคัญ ประสบการณ์ที่เป็นจุดเด่น จุดแข็งของผู้สมัครได้เท่าที่ควร “หัวใจของ SOP” ไม่ได้อยู่ความยาวและแน่นนของเนื้อหา แต่อยู่ที่เรานำเสนอจุดแข็งของตนเองในพื้นที่ที่จำกัดได้ดีขนาดไหน
5. พยายามนำเสนอเกินจริง
การพยายามเสนอประสบการณ์ให้ดูยิ่งใหญ่ทั้งๆ ที่ไม่ได้ใหญ่จริงๆ เช่น บอกว่าเคยแข่งขันวิชาการระดับโลก ผู้อ่านย่อมอยากรู้รายละเอียดและอาจจะหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยตัวเอง และ ถ้าการแข่งขันนั้นมันไม่ได้ยิ่งใหญ่จริงๆ ละก็.. บางคนถึงขั้นให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ หากโดนตรวจสอบและจับได้ว่าโกหก อาจถึงขั้นโดนตัดสิทธิเข้าเรียนได้
6. พยายามใช้ภาษาให้อลังการ
การใช้ภาษาในการทำ Statement of Purpose ควรเป็นภาษาที่เรียบง่าย เข้าใจง่าย แต่ถูกต้อง บางคนพยายามแสดงความสามารถทางภาษาขั้นสูง โดยการใช้ภาษาในระดับสูงหรือในระดับที่ใช้ในงานวรรณกรรม จากการศึกษาหลายแหล่งที่มาพบว่า โดยส่วนใหญ่ผู้อ่าน(คณะกรรมการคัดเลือก)ไม่ได้คาดหวังสิ่งนั้นเลย เขาคาดหวังจะได้อ่านสิ่งที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย และพิจารณาคัดเลือกและตัดสินผู้สมัครได้อย่างรวดเร็วที่สุด *ทั้งนี้บางหลักสูตร เช่น ภาษาศาสตร์ขั้นสูง วรรณคดี อาจจะคาดหวังให้ผู้สมัครแสดงความสามารถในการเขียนเช่นกัน(ต้องดู Guideline การสมัคร) ข้อควรระวังที่สำคัญมาก คือ ยิ่งใช้ภาษาที่แปลกและพิสดารเท่าไหร่ โอกาสผิดพลาดย่อมสูง และทำให้ผู้อ่านไม่เข้าใจสิ่งที่ต้องการสื่อได้ดี
7. ไม่ตรวจทานภาษา
คำว่า “ตกม้าตาย” น่าจะเหมาะกับสถานการณ์นี้ คือ วางโครงเรื่องทุกอย่างดีหมด มีเรื่องราวที่น่าสนใจ แต่ภาษาเขียนวิบัติมาก อันนี้ก็ไม่ไหว ก่อนส่งเอกสารต้องตรวจทานให้ดี ไม่ว่าจะเป็นการสะกด ไวยากรณ์ วรรคคำ(เว้นวรรคผิด) ไม่ใช้คำเชื่อมที่เหมาะสมหรือใช้คำเชื่อมผิด ใช้กาล(tense)ผิด ฯลฯ *ระวังซอฟต์แวร์ที่ช่วยตรวจภาษาและไวยากรณ์ ถึงจะช่วยได้ดีส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่ 100% แน่นอน
8. ไม่จัดรูปแบบให้ดี
อย่างที่บอกไปว่า SOP ไม่มีการจัดรูปแบบที่ตายตัว แต่อย่าลืมว่า หลักการสำคัญในการจัดรูปแบบ SOP คือ ผู้อ่านต้องสามารถ “อ่านง่ายและเข้าใจง่าย” ระวังตัวหนังสือเล็กไป บรรทัดเบียดไป ไม่เว้นระยะขอบ อาจทำให้ผู้อ่านเสียสมาธิจนถึงขั้นหงุดหงิด จนกลายเป็นอคติต่อผู้สมัครเอง
9. ไม่ตรวจทานก่อนส่ง ไม่ให้คนอื่นอ่าน
อย่ามั่นใจในงานเขียน SOP ของตนมากเกินไป ขนาดนักแปล นักเขียนมืออาชีพก็ต้องมีการอ่านซ้ำและตรวจแก้ (Proofread&Edit) จงอ่านซ้ำ ตรวจทานด้วยตัวเองก่อนทั้งเรื่องเนื้อหา ภาษา การจัดรูปแบบ ฯลฯ จากนั้นก็ควรให้คนอื่นลองอ่านดูด้วย บางที “ความน่าอ่าน ความอ่านง่าย และความเข้าใจง่าย” ของแต่ละคนไม่เท่ากัน ควรจะหาระดับที่เหมาะสม
10. ไม่ปรับเปลี่ยนเนื้อหาตามหลักสูตรและสถาบัน
Statement of Purpose ต้องปรับแก้ไปตามหลักสูตรและสถาบันที่สมัครทุกครั้ง ไม่มีการทำ SOP เพียงหนึ่งครั้งแล้วจะสามารถสมัครเรียนต่อได้ทุกแห่งหน บางคนถึงขั้นลืมเปลี่ยนชื่อสถาบัน ชื่อหลักสูตร หรือใส่ชื่อเมืองที่ตั้งมหาวิทยาลัยผิด ทำให้เนื้อหาผิดเพี้ยน ความเข้าใจเปลี่ยน แสดงถึงความสะเพร่าของผู้เขียน และที่สำคัญยังทำให้ผู้อ่านไม่ Happy แน่ๆ ยกเว้นระบบการสมัครรวมเช่น UCAS, CUCAS ที่มักจะให้เขียน SOP ลงบนระบบออนไลน์
สรุป ข้อผิดพลาดในการเขียน Statement of Purpose นั้นมักจะเกิดจากความประมาทและระยะเวลาที่กระชั้นชิดในการส่งเอกสารสมัครเรียน ถ้าเป็นไปได้ ควรเตรียมตัวล่วงหน้าเป็นระยะเวลาที่เพียงพอ โดยทำความเข้าใจหลักสูตรให้ถ่องแท้เสียก่อน ก่อนที่จะลงมือเริ่มทำเอกสารเรียนต่อหรือเรียงความเรียนต่อ SOP
เรียบเรียงโดย PWK Translation – All Rights Reserved
ถ้าใครอยากปรึกษาเรื่องการเขียน SOP Statement of Purpose และ Admission Essay ประเภทอื่นๆ (Study Plan, Motivation letter, Personal Statement) สมัครเรียนต่อต่างประเทศ ปรึกษาเราได้นะ ยินดีให้คำปรึกษาฟรี!
SOP, Personal Statement, Study Plan, Motivation Letter สมัครเรียนต่อในและต่างประเทศ
ฝากติดตาม Facebook เราหน่อย https://www.facebook.com/pwktranslation/
Leave a Reply