เทคนิคสำคัญในการทำ Personal Statement และ Statement of Purpose – อย่างที่ทราบกันดีว่า Statement of Purpose (SOP) หรือ Personal statement เป็นหนึ่งในเอกสารสำคัญในการสมัครเรียนต่อในต่างประเทศ ผู้สมัครควรเรียนรู้ความหมาย ความสำคัญและจุดประสงค์ของเอกสารดังกล่าว รวมถึงควรศึกษาองค์ประกอบ วิธีการเขียนเบื้องต้น การจัดรูปแบบ และข้อควรระวัง ในตอนนี้จะนำเสนอเทคนิคเพิ่มเติมเล็กๆ น้อยของการเขียนเรียงความเรียนต่อ (Admission Essay) ทั้งสองประเภทนี้
1. เล่า “เรื่อง”
ส่วนมากเป็นการเขียนเล่าเรื่อง แสดงให้เห็นแรงบันดาลใจในการเลือกเรียนหลักสูตรและสถาบันนั้นๆ เป็นโอกาสในการแสดงความสามารถในการเขียนเพื่อโน้มน้าวว่าคุณคือผู้สมัครที่ดีที่สุด จะเล่าในรูปแบบไหน โทนไหน ก็ล้วนเป็นเทคนิคส่วนตัวที่ต้องฝึกฝน โดยการอ่าน การฟัง จากแหล่งข้อมูลที่อยู่ในสาขาวิชานั้น ต้องเป็นคนรอบรู้ ติดตามข่าวสารพอสมควร เช่น บางครั้งเราอาจจะต้องเขียนเชื่อมโยงประเด็นปัญหาสังคมหรือปัญหาของโลกแบบเจาะลึกเพื่อเล่าเหตุผลที่เราสมัครเรียนต่อ ณ ตอนนี้ ดังนั้นต้องมีความรู้ในสิ่งที่เขียนพอสมควรถึงจะสามารถ เล่า “เรื่อง” ได้ดี
2. เล่า “ลงรายละเอียดที่น่าสนใจ”
อาจจะควบคุมการเล่าเรื่องของคุณให้ดูทางการ ตลก เศร้า หรือตื่นเต้น โดยการยกตัวอย่างเหตุการณ์ ประสบการณ์เฉพาะที่เป็นความทรงจำ(ที่ไม่รู้ลืม)ของเรา เช่น แรงบันดาลใจในการสมัครเรียนแพทย์ที่ได้จากการที่มีคนในครอบครัวป่วยหนัก เป็นโรคที่แพทย์ในบ้านเรายังไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ เป็นต้น หรือเล่าเหตุการณ์ในอดีตหรือปัจจุบันที่กระทบต่อคนจำนวนมาก ในการใช้ชีวิตในสังคม หรือกระทบจิตใจ ความรู้สึก
3. เล่า “อย่างกระชับ”
ด้วยพื้นที่ที่จำกัดของ Personal Statement ทำให้ผู้สมัครต้องเขียนเรียงความด้วยภาษาที่กระชับ เข้าใจง่าย เข้าประเด็นทันที ใช้คำที่โดดเด่น สะดุดตาและสะกดใจผู้อ่าน แต่ไม่ควรใช้ภาษาฟุ่มเฟือยหรือซับซ้อนเพื่อพยายามสร้างความอลังการให้งานเขียนของคุณหรือเพื่อแสดงความสามารถทางภาษาของคุณเกินไป เพราะนอกจากจะทำให้คนอ่านเข้าใจยากแล้ว โอกาสผิดพลาดก็สูง เช่น การเลือกใช้คำพ้องความหมาย (synonym) หากไม่ได้มีความเข้าใจความหมายหรือบริบทจริงๆ มีโอกาสที่ความหมายจะเพี้ยนทันที
4. เล่า “ทำไมคุณเลือกหลักสูตรนี้อย่างชัดเจน”
ไม่ว่าจะเล่าเหตุการณ์ ยกตัวอย่างประสบการณ์ในอดีตหรือจะกล่าวถึงแรงบันดาลใจแบบไหน ต้องชัดเจน เข้าประเด็น ภาษากระชับ ต้อง “เชื่อมโยง” และ “เกี่ยวข้อง” อย่ากล่าวอะไรเลื่อนลอยเกินไป เช่น “ฉันอยากจะทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น จึงเลือกเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจ” ลงรายละเอียดไปเลยว่าอยากเรียนสาขาดังกล่าวเพราะ “ได้มีประสบการณ์อะไรที่เกี่ยวข้องมาแล้ว” และต้องการ “พัฒนาความรู้ไปเพื่อทำอะไรต่อ” และเน้นย้ำความสำคัญของ “สิ่งที่เราต้องการจะทำ” ว่าสำคัญต่อสังคมเพียงใด
5. เล่า “ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น”
ให้ข้อมูลผู้อ่านว่าเรามีพื้นฐานที่ดีขนาดไหน ไม่ว่าจะประสบการณ์การเรียน การทำงาน ประสบการณ์ฝึกงาน กิจกรรมเสริมหลักสูตร อาสาสมัคร การประชุมวิชาการใดๆ “ที่เกี่ยวข้อง” กับหลักสูตร แสดงให้เห็นว่าเรา “พร้อม” การเรียนต่อหลักสูตร สาขานั้นเพียงใด การเล่าส่วนนี้ ไม่ใช่การเล่าประสบการณ์หรือเหตุการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมา (ไม่งั้น 10 หน้า คงไม่พอ) ควรเลือกเอาประสบการณ์ที่สำคัญ น่าสนใจ
6. เล่า “เป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม”
ส่วนนี้สำคัญมากคือผู้สมัครต้องบอกเป้าหมายในอนาคตทั้งด้านการเรียน การทำงาน ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แบบลงรายละเอียด เริ่มจากในหลักสูตรที่เราสมัคร เราตั้งใจจะศึกษาอะไรบ้าง ถ้ามี Research module ก็ควรบอกว่าเราตั้งใจจะศึกษา วิจัยประเด็นหรือหัวข้ออะไร ด้วยวิธีการไหน อย่างไร รวมไปถึงเป้าหมายหลังเรียนจบ แน่นอนว่าผู้อ่าน(คณะกรรมการคัดเลือก)ย่อมอยากทราบอะไรที่รูปธรรม จับต้องได้มากกว่าการที่บอกว่า “หลังเรียนจบ ฉันจะทำให้สังคมดีขึ้น” เราควรแสดงความรู้ของเราในสายวิชาชีพโดยการกล่าวถึงตำแหน่ง ประเภทงานที่เราสนใจ และหน่วยงาน องค์กรหรือบริษัทที่น่าจะเป็นจุดมุ่งหมายของเราในอนาคต หรือบางคนก็ใส่เป้าหมายระยะยาวหรือเป้าหมายที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม หรือการทำเพื่อสังคมในวงกว้าง เช่น ความตั้งใจทำงานด้านวิจัยหรือด้านวิชาการที่ส่งเสริมการดำเนินนโยบายรัฐบาล
กล่าวคือ เทคนิคสำคัญในการทำ Personal Statement และ Statement of Purpose (SOP) ควรเป็นการ “เล่าเรื่อง” ที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้และชัดเจน โดยเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงโดยตรงกับสิ่งที่สมัครเรียน สำหรับเทคนิคการเล่าเรื่องก็ล้วนแล้วแต่ความสามารถส่วนบุคคล ความรู้รอบในประเด็นที่เกี่ยวข้องและความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในสาขาวิชานั้นๆ โดยอย่าลืมว่าทุกอย่างต้องเขียนจากข้อมูลจริงของผู้สมัครและต้องเคารพข้อแนะนำการเขียนเรียงความที่กำหนดโดยสถาบัน (Guideline) ได้แก่ ความยาว การจัดรูปแบบ เนื้อหา หัวข้อที่ควรระบุ ฯลฯ ท้ายสุดก็อย่าลืมขั้นตอนการตรวจเช็คความถูกต้อง(Proofread) ความน่าอ่าน(Readability) ฯลฯ ทั้งโดยตัวเองและบุคคลอื่น
เรียบเรียงโดย PWK Translation – All Rights Reserved
ถ้าใครอยากปรึกษาเรื่องการเขียน SOP Statement of Purpose และ Admission Essay ประเภทอื่นๆ (Study Plan, Motivation letter, Personal Statement) สมัครเรียนต่อต่างประเทศ ปรึกษาเราได้นะ ยินดีให้คำปรึกษาฟรี!
SOP, Personal Statement, Study Plan, Motivation Letter สมัครเรียนต่อในและต่างประเทศ
ฝากติดตาม Facebook เราหน่อย https://www.facebook.com/pwktranslation/
Leave a Reply