ประเภทของเรียงความเรียนต่อ Admission Essays มารู้จักกัน
“Admission Essay มีประเภทใดบ้าง?” – Admission Essay ศัพท์คำนี้ ถ้าใครยังไม่คุ้น ก็คือ เรียงความการสมัครเรียนต่อหรือบางทีเรียก Application essay ส่วนมากจะเป็นเรียงความที่เล่าเรื่องราวของคุณให้สอดคล้องหรือสัมพันธ์กับคุณสมบัติที่หลักสูตรและสถาบันต้องการนั่นเอง
เรียงความเรียนต่อมีหลายประเภท ซึ่งบางครั้งความแตกต่างก็เป็นแค่ชื่อเรียกไปตามสถาบันและประเทศ แต่บางทีเรียงความสมัครเรียนต่อก็มีรูปแบบ เนื้อหาหรือจุดประสงค์ที่ต่างกันบ้าง
ประเภทหลักๆ ของ Admission Essay เรียงความเรียนต่อ
Statement of Purpose หรือ SOP (เอส โอ พี)
ใครยังไม่ทราบข้อมูลว่า SOP คืออะไร เข้าไปดูในโพสต์นี้เลย SOP Statement of purpose คืออะไร
สำหรับเรียงความเรียนต่อ ประเภท SOP นี้ ก็มักจะต้องการให้ผู้สมัครเล่าเรื่องหรือประสบการณ์ที่บ่งบอกความสามารถ จุดแข็งผู้สมัครที่สอดคล้องกับหลักสูตรที่สมัครเรียน แต่ที่จะเน้นพิเศษ คือ จุดประสงค์ เหตุผล แรงจูงใจ ในการสมัครหลักสูตรนั้น ตามชื่อเลย Statement of Purpose ความยาวมาตรฐานสำหรับ Postgraduate (ป.โทขึ้นไป) อยู่ที่ 800 คำ ขึ้นไป ในระดับ Undergraduate ป.ตรี หรือระดับที่ต่ำลงมามักจะกำหนดไว้ที่ประมาณ 500-800 คำ จากข้อมูลที่เรามีสถาบันต้อการ SOP เป็นเอกสารการสมัครมักจะอยู่ในฝั่ง สหรัฐฯ US, สหราชอาณาจักร UK และมีบ้างในทางออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเอเชียบางแห่งซึ่งมีระบบการศึกษาแนว Anglo-Saxon
Personal Statement (PS)
ใครยังไม่ทราบข้อมูลว่าเรียงความเรียนต่อชนิดนี้คืออะไร ดูโพสต์ Personal Statement คืออะไร
สำหรับเรียงความ Personal Statement นี้ ขอเรียก PS ละกัน ก็มีความคล้ายคลึงกับ SOP มาก แต่จากที่เราหาข้อมูลจากหลายแหล่ง พบว่า PS จะมีความฟรีสไตล์ ให้อิสระในการเขียนมากกว่า สามารถเขียนเรื่องราว แรงบันดาลใจ ประสบการณ์พิเศษเพื่อประกอบเรื่องราวได้และโยงไปสู่ใจความสำคัญของเรียงความเรียนต่อ หลายครั้ง พบว่าความยาวมาตรฐานของ Personal Statement จะยาวกว่า SOP เนื่องจากเป็นเรียงความเรียนต่อที่ต้องเล่าเรื่องตัวเองเยอะพิเศษ สำหรับ Postgraduate (ป.โทขึ้นไป) อยู่ที่ 800-900 คำ ขึ้นไป ในระดับ Undergraduate ป.ตรี หรือระดับที่ต่ำลงมามักจะกำหนดไว้ที่ประมาณ 800 คำ จากข้อมูลที่เรามี สถาบันที่ต้องการ Personal Statement เป็นเอกสารการสมัครก็มีพอๆ กับสถาบันที่ต้องการ SOP ซึ่งคือสถาบันทั่วโลก ที่มีระบบการศึกษาแนว Anglo-saxon
Study Plan แปลตรงตัวคือแผนการศึกษา
อย่าลืมทำความรู้จักเรียงความเรียนต่อประเภทนี้เสียก่อน Study plan คืออะไร
ตามชื่อ Study Plan จะเน้นให้เราลงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการในอนาคตของเราทัั้งในด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพ ผู้เขียนควรเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของภูมิหลังปัจจุบันของตนไปสู่เนื้อหาของหลักสูตร และเน้นรายละเอียดโครงการ แนวคิด โปรเจคที่คุณต้องการทำถ้าคุณได้มีโอกาสเข้าเรียนที่นั่นและตลอดบทบาทการเป็นนักศึกษา และจากผลลัพธ์ที่จะได้จากการเรียนในหลักสูตรและสถาบันนั้นจะนำคุณไปสู่จุดใดในอนาคต เท่าที่พบ สถาบันที่มักร้องขอ Study Plan จะอยู่ฝั่งเอเชียอาทิ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี ฯลฯ และมักกำหนดความยาวไว้ประมาณ 800-1500 คำ
Letter of Motivation, Motivation letter หรือ Cover letter จดหมายสมัครเรียน
ทำความรู้จักกันก่อนที่ Letter of Motivation หรือ Motivation letter คืออะไร และ ความแตกต่าง Motivation letter และ Cover letter
สำหรับงานเขียนประเภทนี้จะกึ่งๆ เรียงความและจดหมาย ความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดคือความยาวของ Motivation letter ควรต้องไม่เกิน 1 หน้า (หรือมากสุด 1.5 – 2 หน้า) แล้วแต่สาขาและหลักสูตร เรียงความเรียนต่อประเภทนี้จะเน้นเรื่องของเหตุผลและแรงจูงใจ(ตามชื่อจดหมาย) ในการเลือกเรียนหลักสูตรและสถาบันดังกล่าว โดยควรกล่าวถึงภูมิหลังที่เป็นจุดแข็งของผู้สมัครและเป้าหมายในอนาคตให้เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น เป็นงานเขียนที่เน้นความสั้น กระชับ ตรงประเด็น สถาบันที่มักจะขอ Motivation letter มักอยู่ในยุโรปและสแกนดิเนเวีย เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สวีเดน ฯลฯ บางครั้งก็ใช้คำว่า Cover letter ให้เห็นอยู่เช่นกัน
Topic Oriented Admission Essay เรียงความสมัครเรียนต่อแบบกำหนดหัวข้อหรือโจทย์
เรียงความเรียนต่อในหลายสถาบันและหลักสูตรมีการกำหนดหัวข้อหรือโจทย์สำหรับเรียงความซึ่งอาจจะเป็นถามเกี่ยวกับผู้สมัครโดยตรงหรืออาจเป็นการวัดทัศนคติต่อประเด็นต่างๆ ที่มีความสำคัญในโลก หรือหลายครั้งเป็นคำถามแนวจิตวิทยาและคำถามสัพเพเหระทั่วไปซึ่งดูเหมือนจะง่าย บางครั้งคำถามไม่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรที่สมัครหรือพื้นฐานผู้สมัครเลยก็มี คนตอบต้องคิดหนักมากๆ โดยปกติพบว่าสถาบันที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก ที่มีการแข่งขันสูง หรือสถาบันจำพวก IVY League มักมีวิธีการตั้งคำถาม แนวแปลก แหวกแนวอยู่บ่อยๆ (แปลกขนาดไหนลองดูโพสต์นี้เป็นตัวอย่าง “30 หัวข้อเรียงความเรียนต่อ แปลกกว่านี้มีอีกมั๊ย”) เพื่ออะไรละ? เพื่อวัดความสามารถทางความคิด ไหวพริบ ระดับภาษา ฯลฯ เพื่อคัดเลือกผู้สมัครที่เก่งที่สุดนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีการจำแนกประเภทของ Admission Essay ตามสาขาวิชาหรือสถาบันด้วย เช่น
Business School/MBA Admission Essay
ตามชื่อเลย เรียงความสมัครเรียนต่อสาขาบริหารธุรกิจ การจัดการ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้อง
Medical School Admission Essay
เรียงความเรียนต่อสาขาแพทย์ซึ่งจำเป็นต้องวัดทัศนคติ ระดับความรู้ของผู้สมัครแบบแตกต่างออกไป
Law School Admission Essay (J.D., LL.M., J.S.D.)
เรียงความสมัครเรียนต่อสาขากฏหมาย ซึ่งแต่ละสาขาให้โจทย์ไม่เหมือนกัน บางสาขากำหนดโจทย์ทั่วไป บางครั้งเป็นคำถามเชิงกฎหมายมาไว้ทดสอบผู้สมัครเลยทีเดียว
Private High Schools Admission Essay
เรียงความเรียนต่อสำหรับโรงเรียนมัธยมที่มีการแข่งขันสูง แน่นอนว่าผู้สมัครเยอะ โรงเรียนก็ต้องมีการสกรีนคนหนักๆ หน่อย การเขียนเรียงความนี่แหละวัดได้ดีเลยทีเดียว
College Admission Essay
สำหรับเรียนต่อวิทยาลัย โรงเรียนเฉพาะด้าน สถาบันสายอาชีพ ฯลฯ
Graduate Programs Admission Essay อื่นๆ
ไม่ว่าจะเป็นสาขา คอมพิวเตอร์ Computer, วิทยาศาสตร์ science, คณิตศาสตร์ math, วิศวกรรมศาสตร์ engineering, จิตวิทยา psychology, สังคมศาสตร์ Social science, ศิลปะ Arts, ภาษา Language and Literature ฯลฯ ไม่ว่าคุณจะสมัครเรียนต่อต่างประเทศสาขาใด คุณมีโอกาสพบโจทย์เรียงความยากๆ หินๆ จากสถาบันด้วยกันทั้งนั้น ขอให้โชคดีและก้าวต่อไป!
เรียงเรียงโดย PWK Translation (All rights reserved)
ปรึกษามืออาชีพด้านเรียงความสมัครเรียนต่อต่างประเทศทุกประเภท ทุกสาขา ทั่วโลก
Leave a Reply