แนวทางการเขียนจดหมาย Motivation letter – Motivation Letter คือ จดหมายเรียงความแสดงเหตุผลในการเลือกเรียนต่อในหลักสูตร สาขาหรือสถาบันนั้นๆ แนวคิดใกล้เคียงกับ Statement of Purpose/ Personal Statement แต่ก็มีความแตกต่าง* ส่วนมากมหาวิทยาลัยทางฝั่งยุโรปที่ไม่ได้มีระบบการศึกษาแบบ Anglo-Saxon เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อิตาลี เบลเยียม จะนิยมเรียกขอจดหมายนี้จากผู้สมัคร ในตอนที่ผ่านๆ มาเราได้อธิบายแนวคิด ลักษณะ องค์ประกอบของ Motivation letter ไว้พอสมควรแล้ว ตอนนี้ เราจะนำเสนอสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงและข้อควรระวังเมื่อเตรียมจดหมายประเภทนี้ โดยเราอ้างอิงข้อมูลมาจากเว็บไซต์แนะแนวการศึกษาต่อเยอรมนีซึ่งพอจะเป็นมาตรฐานทั่วไปในยุโรปได้
อย่าพูดซ้ำสิ่งที่เขียนไว้แล้วในแบบฟอร์มใบสมัครหรือ CV
ข้อนี้สำคัญมากที่ต้องจำไว้ เพราะเจ้าหน้าที่รับสมัครหรือกรรมการการคัดเลือก (Admission Committee) จะได้รับจดหมาย Motivation Letter มากมายจากผู้สมัครหลายคน และถ้าคุณพูดซ้ำๆ เอกสารของคุณก็จะน่าเบื่อหน่ายและสร้างความยาวโดยไม่จำเป็น คุณต้องมีความคิดสร้างสรรค์ สร้างความน่าสนใจ กล้าที่จะนำเสนอประเด็นต่างๆ อย่างตรงไป ตรงมา กระชับ และสร้างแรงบันดาลใจ!
เขียนโดยอิงจากข้อมูลเฉพาะของมหาวิทยาลัย
ในขณะที่คุณกำลังเขียนจดหมายแรงจูงใจ ให้ระมัดระวังในการเรื่องความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับหลักสูตรและมหาวิทยาลัยที่คุณกำลังสมัครเสมอ พยายามเขียนเชื่อมโยงประสบการณ์ ความสนใจของคุณ “ที่เกี่ยวข้อง” กับหลักสูตรเท่านั้น ลองนึกดูว่าคุณจะได้รับประโยชน์จากการเรียนหลักสูตรดังกล่าว และจุดเด่นของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ที่ทำให้คุณอยากเข้าเรียน โดยปกติมหาวิทยาลัยต่างๆ จะมีข้อกำหนดที่ชัดเจนและให้ข้อมูลบนเว็บไซต์ เช่นเดียวกับคุณสมบัติของผู้สมัครที่สถาบันต้องการ
ส่วนเกริ่น Introduction แบบเรียบๆ
ส่วนเกริ่นหรือ Intro เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในจดหมายของคุณ เพราะมันจะกำหนดว่าเจ้าหน้าที่รับสมัครจะมีส่วนร่วมและอ่านจดหมายทั้งหมดต่อหรือไม่ นี่คือที่ที่พวกเขาจะตัดสินใจว่าพวกเขาจะพิจารณาเอกสารการสมัครของคุณหรือจะยกเลิกทั้งหมด คิดหาวิธีที่จะไม่ฟังดูซ้ำซาก ซึ่งบางครั้งไม่จำเป็นต้องยาวหรือเป็นวิชาการมากนัก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเชิญชวนให้ผู้อ่านสนใจอ่านต่อ
อย่าพยายามโอ้อวดมากเกินไป
อีกสิ่งหนึ่งคือคุณอาจรู้สึกตื่นเต้นมากและต้องการแสดงคุณสมบัติ ประสบการณ์อันทรงคุณค่าของคุณ ต่อให้เป็นความสามารถระดับประเทศ หรือระดับโลก แต่ถ้าประสบการณ์หรือคุณสมบัติเหล่านั้นไม่เกี่ยวข้องหรือไม่สามารถเชื่อมโยงกับหลักสูตรที่สมัครได้ ผลจะได้ในทางตรงข้าม แทนที่กรรมการจะประทับใจ แต่พวกเขาจะมองว่าคุณไม่เข้าใจหลักสูตรที่สมัครหรือพยายามอวดดี คุณจะกลายเป็นผู้สมัครที่ไม่น่าประทับใจทันที!
นำเสนอความเป็น “ตัวคุณ”
นำเสนอความสนใจและความรู้สึกของคุณเมื่อคุณเข้าร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับหลัสูตร ลองนึกถึงวิธีนำเสนอที่แสดงให้เห็นทัศนะคติและแรงจูงใจของคุณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสนใจ เหตุการณ์หรือประสบการณ์ในอดีตส่วนตัวของคุณ
อย่าใส่ “อารมณ์ขัน” มากเกินไป
แน่นอนว่าอารมณ์ขันทำให้เรียงความของคุณฟังดูเป็นแง่บวก แต่การพยายามสร้างอารมณ์ขันให้มากในจดหมายเป็นแนวทางที่ผิด คืออะไรที่ตลกและน่าสนใจสำหรับคุณอาจไม่ขำสำหรับบุคคลอื่น พยายามเล่าเรื่องด้วยน้ำเสียงที่เป็นกลาง อาจจะไม่ต้องทางการมาก แต่ก็ต้องไม่ “ตลก” มากเกินไปเช่นกัน
อย่าเป็นคนอื่น
จงนำเสนอเสียง น้ำเสียง และตัวตนของคุณเอง! ตั้งเรื่องภาษา รูปประโยค วิธีการเขียนควรจะสอดคล้องกับทักษะและความสามารถของคุณจริงๆ ต่อมาเนื้อเรื่องที่นำเสนอก็ควรมาจากประสบการณ์ เรื่องราวที่คุณเคยประสบพบมาจริงๆ อย่าเขียนในสิ่งที่ตนเองไม่เคยทำหรือไม่เคยเป็น และห้าม “โกหก” เด็ดขาด
ตอบทุกคำถาม
ใส่ใจกับการตอบคำถามทุกข้อที่ถามถึงคุณ อย่าละเลยการอ่านโจทย์หรือหัวข้อของเรียงความทุกครั้งที่มหาวิทยาลัยถาม เพราะในบางครั้งสถาบันจะเป็นผู้กำหนดหัวข้อในการเขียนจดหมาย Motivation letter ดังนั้นผู้สมัครควรอ่านระเบียบการให้ละเอียด ดูคุณสมบัติที่มหาวิทยาลัยต้องการ และตรวจสอบหัวข้อให้ดี ทุกคำถามมีความสำคัญ!
อย่าเขียน Motivation letter ในนาทีสุดท้าย
ข้อนี้สำคัญมาก ให้เวลาตัวเองมากพอที่จะเขียนร่างหลายๆ ร่าง จนกว่าคุณจะทำให้เรื่องราวของคุณดูมีชีวิตชีวา หากคุณทำภายในสองสามวันหรือในวันสุดท้าย คุณอาจลืมสิ่งที่มีค่าและพลาดการนำเสนอข้อมูลสำคัญ เริ่มเขียนจดหมายให้เร็วที่สุด ทันทีที่คุณมีความชัดเจนเกี่ยวกับเป้าหมายของคุณ!
ตรวจสอบ พิสูจน์อักษรงานเขียนของคุณเสมอ
การพิสูจน์อักษรเป็นสิ่งจำเป็น เมื่อถึงเวลาต้องตรวจทาน หลังจากแก้ไขข้อผิดพลาดทางไวยากรณ์ เครื่องหมายวรรคตอน หรือการจัดโครงสร้างบรรทัดแล้ว ก็ควรส่งให้เพื่อน อาจารย์ หรือเพื่อนร่วมงานคุณช่วยอ่านและขอข้อเสนอแนะและความเห็นจากพวกเขา ระวัง อย่าส่งให้หลายคนอ่านมากเกินไป เพราะคุณอาจจะสูญเสียเสียงและความเป็นตัวตนของคุณไปโดยสิ้นเชิง จุดประสงค์ของการให้คนอื่นช่วยอ่าน คือ การให้คนอื่นช่วยบอกข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ที่คุณไม่ทันระวัง
และนี่คือแนวทางการเขียน Motivation Letter ในการสมัครเรียนต่อประเทศในยุโรปเบื้องต้น ที่จะช่วยให้คุณเริ่มต้นได้อย่างถูกต้อง นี่อาจจะยังเป็นเพียงทฤษฎี และยังไม่ได้ลงในขั้นตอนปฏิบัติเท่าไหร่แต่ก็มั่นใจได้เลยว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกต้อง และเป็นหลักการที่จะไม่ทำให้คุณหลงทางในการเตรียมจดหมายสมัครเรียนต่อ ในตอนหน้าจะเริ่มเอาวิธีการเขียน Motivation letter ที่เป็นภาคปฏิบัติมากขึ้นมานำเสนอ
อ้างอิงจาก studying-in-germany.org
Leave a Reply