ควรเขียนอะไรใน Statement of Purpose – อย่างที่บอกในตอนที่แล้วว่า SOP เป็นเอกสารบังคับและสำคัญ เราควรทุ่มเท และเขียนออกมาให้ดีที่สุด หลายคนอาจจะเคยมีมุมมองว่าต้องเขียน “ยกยอ ปอปั้น” สถาบันเข้าไว้ถึงจะสำเร็จ ผิดแล้ว! วันนี้เราจะมาแนะนำ องค์ประกอบของ SOP เขียนอะไรดีในเรียงความเรียนต่อของเรา ให้ดูดี โน้มน้าวและส่งเสริมความสำเร็จในการสมัครเรียนต่อทั้งในและต่างประเทศได้
ขั้นรายการก่อน ใครยังไม่ได้อ่านตอนก่อนหน้า แนะนำให้อ่านก่อนนะ
Statement of Purpose ไม่มีรูปแบบตายตัว
ทุกครั้งก่อนลงมือทำ SOP ให้ศึกษาเงื่อนไขการสมัครหลักสูตรและสถาบันก่อนทุกครั้ง หลายครั้งที่สถาบันจะกำหนดประเด็นที่ต้องการให้ผู้สมัครนำเสนอมาอยู่แล้ว(กำหนดโจทย์) บางมหาวิทยาลัยก็มีรูปแบบ SOP เป็นของตัวเองโดยเฉพาะ ส่วนมากจะมี Guideline ให้ในหน้าเว็บไซต์ สำหรับรูปแบบนั้นเราอาจจะเจอหลากหลาย โดยทั่วไปก็จะให้อิสระผู้สมัครเขียนมาเต็มที่ บางครั้งอาจจะเจอเป็นลักษณะคำถาม ให้ผู้สมัครตอบเป็นข้อๆ ไป ส่วนมากจะกำหนดความยาว รูปแบบไว้ชัดเจน เราต้องปฎิบัติตาม!
ส่วนที่หนึ่ง คือ เกริ่นนำ
อย่างที่บอกว่า SOP ไม่มีตายตัว ดังนั้นในแต่ละ “ส่วน” อาจแบ่งย่อยได้หลาย “พารากราฟ” แล้วแต่ประเด็นที่จะกล่าว ในส่วนนี้อาจจะใช้เป็นส่วน Introduction ซึ่งบางทีจะกล่าวประโยคเปิดสัก 1-2 ประโยคแนะนำตัวเองก็ได้ แต่ก็ไม่ค่อยจำเป็นนักเพราะผู้อ่านรู้จักเราผ่าน CV/Resume อยู่แล้ว จากนั้นควรเริ่มการเล่าเรื่องเลย ส่วนนำของ SOP โดยทั่วไปก็มักจะกล่าวถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เป็นแรงบันดาลใจให้เราสนใจในสาขาวิชาที่กำลังสมัครเรียน โดยอาจจะยกภาพปัญหาเล็กๆ ใกล้ตัวที่อาจกระทบสังคมในวงกว้าง(ต้องเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่จะเรียน) ควรแสดงมุมมอง ทัศนคติต่อประเด็นปัญหานั้นให้ดูน่าสนใจ หรือบางครั้งก็ยกตัวอย่างประสบการณ์พิเศษที่เราเคยประสบแล้วเกิดความประทับใจ และอธิบายเหตุผลเชื่อมโยงว่าทำไมเรามีความสนใจในประเด็นหรือสาขาวิชาดังกล่าวมากนัก และควรบอกว่าอะไรคือจุดเปลี่ยนให้คุณมาสมัครเรียนต่อหลักสูตรนี้ ณ ตอนนี้
ส่วนที่สอง เล่าประสบการณ์ที่ยังไม่ได้เล่า
SOP ส่วนนี้ก็ควรเล่าประสบการณ์ของเราโดยอ้างอิงตาม CV/Resume ที่เราส่งสมัคร แต่! “อย่าเขียนสิ่งที่ cv/resume นั้นบอกอยู่แล้ว” เช่น เราไม่ควรเขียนบอกซ้ำว่า ตอนมัธยมเราเรียนที่ไหน จังหวัดอะไร ตอนมหาวิทยาลัยเรียนคณะอะไร เพราะนั่นนอกจากจะทำให้เปลืองพื้นที่หน้ากระดาษแล้ว ยังทำให้งานเขียนของเราดูเยิ่นเย้อ วกวน อย่าลืมว่า SOP มักจะจำกัดความยาว 500-800 คำ ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราควรจะเล่า “สิ่งที่ซ่อนระหว่างบรรทัด” ของประสบการณ์ที่เราเขียนไว้ในเรซูเม่เรา โดยการขยายความประสบการณ์การศึกษา การทำงาน ฝึกงานที่ผ่านมา ยกตัวอย่างที่สะท้อนความสามารถ จุดแข็งของเราและความเหมาะสมต่อหลักสูตรที่กำลังสมัคร ใช้คำที่ทำให้เห็นภาพทันที เช่น “ระหว่างการฝึกงานนั้น ฉันได้มีบทบาทในโครงการ.. ซึ่งทำมีหน้าที่…. และในขณะทำงานได้เจอปัญหาแบบนี้ และได้แก้ปัญหาด้วยวิธีนี้…” นี่คือความพยายามเล่าตัวตนของคุณ บุคคลิก นิสัย ทักษะของตนเอง โดยการเล่า “การกระทำ” ในอดีต เป็นการยกตัวอย่างที่ชัดเจนอยู่แล้ว (ไม่จำเป็นต้องใช้ประโยคบอกตรงๆ เช่น “ฉันเป็นคนขยัน” “ฉันเป็นคนแก้ปัญหาเก่ง” ) ในส่วนนี้ อาจจะขยายความด้านความสนใจส่วนตัว(ที่เกี่ยวข้อง) เช่น งานอดิเรกที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ว่าเราสนใจในสาขาวิชานี้จริงๆ
ส่วนที่สาม แผนการศึกษา
ส่วนที่ 3 ของ Statement of purpose ควรมีแผนการศึกษา โดยอธิบายต่อเนื่องจาก “ความสนใจด้านวิชาการ” (academic interest) ที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้า อาจจะให้ภาพรวมก่อนว่าเราอยากศึกษาอะไร เพื่อนำไปแก้ปัญหาต่อประเด็นไหน จากนั้นก็เชื่อมโยงเข้าสาระวิชาของหลักสูตร (course syllabus) อาจจะยกตัวอย่างวิชาสำคัญที่เราอยากเรียนและให้เหตุผลประกอบ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นว่าเรามีความตั้งใจและเข้าใจในหลักสูตรที่กำลังสมัครจริงๆ ถ้าเป็นหลักสูตรทีีเน้นการทำโครงงาน (project-based) ก็ควรให้รายละเอียดถึงโปรเจคที่อยากทำ ถ้าเป็นหลักสูตรวิจัย (research-based) ก็ให้รายละเอียดถึงกัวจ้อวิจัย (topic) หรือแม้แต่หลักสูตรที่ให้มีการฝึกงาน (internship) เราก็ควรให้ไอเดียคร่าวๆ ถึงประเภทงานหรือบริษัทที่อยากฝึกงาน
ในส่วนนี้อาจจะบรรยายให้เห็นความจริงจังองผู้สมัครได้มากขึ้น โดยการนำเสนอแผนการทำกิจกรรมพิเศษทั้งในและนอกห้องเรียน เช่น ตั้งใจจะเข้าร่วมงานสัมนาวิชาการ ประชุมวิจัย การเข้าเซสชั่นนักวิจัย อาจารย์ที่มีชื่อเสียง หรือแม้กระทั่งการเข้าร่วมกิจกรรมนอกหลักสูตร (extracurricular activities) อาทิ ชมรมต่างๆ ค่ายกิจกรรม การทำงานพาร์ทไทม์ หรืออะไรก็ตามที่เสริมภาพลักษณ์ต่อโปรไฟล์ของเรา และยังมีอีกสารพัดอย่างที่จะนำเสนอในส่วนนี้ได้ (ติดตามตอนหน้า)
ส่วนที่สี่ เป้าหมายในอนาคต
ถ้าขาดส่วนนี้ไป คงจะเป็น Statement of purpose ไม่ได้ (purpose ชื่อก็บอกอยู่) เพราะฉะนั้น “จุดประสงค์” ส่วนนี้ต้องชัดเจน ประเด็นที่เราควรกล่าวถึงคือเป้าหมายในอนาคตของเรา หลังสำเร็จการศึกษา เรามีแผนจะทำอะไร อย่างไรบ้าง นี่คือคำถามสำคัญที่คณะกรรมการคัดเลือก(ผู้อ่าน) อยากทราบ และเป็นหนึ่งในเกณฑ์สำคัญที่ใช้ตัดสินผู้สมัคร ถ้าหากมีแผนจะศึกษาต่อ ก็ควรระบุสิ่งที่อยากเรียนในอนาคต ควรกล่าวถึงชื่อหลักสูตรและยกตัวอย่างสถาบันที่อยากเรียนในอนาคตไว้บ้าง ถ้าหากจะทำงาน ก็ควรบอกประเภทงานและอุตสาหกรรมที่สนใจจะทำ ในองค์กร หน่วยงานหรือบริษัทใด (ยกตัวอย่าง) ในเรื่องของเป้าหมายอนาคตนี้ ควรให้รายละเอียดมากเป็นพิเศษ อาจจะระบุแผนในอนาคตเป็นระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวตามลำดับ
บางสถาบันอาจจะเน้นให้ผู้เรียนมีแผนในอนาคตที่ยิ่งใหญ่และเป็นประโยชน์ต่อสังคม กรณีนี้เราอาจจะเพิ่ม 2-3 ประโยค กล่าวถึงสิ่งที่เราเรียนมาจากหลักสูตรนี้จะทำให้เราได้ทำตามเป้าหมายอย่างไรและจะมีส่วนที่สร้างความเปลี่ยนแปลง (make difference) ต่อชุมชน สังคมอย่างไร เราจะช่วยเหลือและอุทิศ(contribution) ด้วยวิธีไหน จะช่วยแก้ปัญหาอะไร ช่วยคนกลุ่มใดบ้าง?
ส่วนอื่นๆ ที่สนับสนุนเหตุผล
บางครั้งถ้ามีพื้นที่ใน SOP เหลืออยู่บ้าง ก็ไม่เสียหายที่จะให้เหตุผลเพิ่มเติมอีกหน่อย อาทิ ส่วนชื่นชมหลักสูตรและสถาบัน ว่าเป็นหลักสูตรที่ดี สถาบันยอดเยี่ยม ติด Ranking ระดับสูง หรือได้รับวิทยฐานะ(accreditations) ประเภทต่างๆ รวมถึงกล่าวถึงข้อดีในการเรียนต่อที่ประเทศที่เราเลือกหรือของเมืองที่อาศัยอยู่ ในแง่ของสิ่งแวดล้อมในการเรียน สิ่งอำนวยความสะดวกและช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างศึกษา กรณีถ้า SOP มีพื้นที่จำกัด (ประมาณ 500-600 คำ) จะใส่ส่วนนี้เป็นพารากราฟ อาจจะไม่เหมาะสมและอาจบั่นทอนประเด็นหลักที่เราต้องการสื่อ ก็แนะนำให้สอดแทรก 1-2 ประโยคในส่วนหลักไปเลย
หวังว่าพอจะเห็นภาพแล้วว่า ควรเขียนอะไรใน Statement of Purpose และมีองค์ประกอบอะไรที่สำคัญบ้างเบื้องต้น ขอสรุปย้ำอีกทีว่า SOP เป็นเรียงความสมัครเรียนต่อ (Admission Essay) ประเภทหนึ่งที่ไม่มีรูปแบบตายตัว โดยมีส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยขยายความจาก CV/Resume เน้นความสามารถ จุดแข็ง และเป้าหมายในการเรียน รวมถึงแผนในอนาคตของผู้สมัคร SOP จะต้องโน้มน้าว (convince) และช่วยสนับสนุนผู้สมัครให้ประสบความสำเร็จในการสมัครเรียนต่อ
เรียบเรียงโดย PWK Translation – All Rights Reserved
ถ้าใครอยากปรึกษาเรื่องการเขียน SOP Statement of Purpose และ Admission Essay ประเภทอื่นๆ (Study Plan, Motivation letter, Personal Statement) สมัครเรียนต่อต่างประเทศ ปรึกษาเราได้นะ ยินดีให้คำปรึกษาฟรี!
SOP, Personal Statement, Study Plan, Motivation Letter สมัครเรียนต่อในและต่างประเทศ
ฝากติดตาม Facebook เราหน่อย https://www.facebook.com/pwktranslation/
[…] Study Plan ประกอบด้วยองค์ประกอบทั่วไปคล้ายกับ SOP คือมีส่วนเกริ่นนำ เล่าประสบการณ์ […]