Study plan ต่างจาก SOP อย่างไร – ในการสมัครเรียนต่อจีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลี ญี่ปุ่น หลายครั้ง สถาบันมักจะขอเอกสารสำคัญ นอกเหนือจาก CV/Resume, Transcript, Academic degree, LOR, Language proficiency เอกสารนั้นก็คือ Study Plan นั่นเอง
Study Plan เปรียบเหมือนเป็นงานเขียน เรียงความที่ผู้สมัครจะได้มีโอกาสเขียนอธิบายเหตุผลในการสมัครเรียนหลักสูตรและสถาบันดังกล่าว คล้ายกับ Statement of Purpose (SOP) หรือ Personal Statement ในการสมัครเรียนทั่วไป เรียกได้ว่าเป็น Admission Essay อีกประเภทหนึ่งก็ว่าได้
แนะนำบทความนี้ ที่จะช่วยแนะนำให้รู้จักเอกสารประเภทนี้กัน
Study Plan คืออะไร ? มาทำความรู้จัก เอกสารสมัครเรียนต่อประเภทนี้กัน
ในตอนนี้เราจะอธิบายถึงความแตกต่างของ Study Plan กับ SOP/ Personal Statement เป็นหลัก ซึ่งมีอะไรบ้างนั้น มาดูทีละประเด็น ได้แก่
1. องค์ประกอบและโครงสร้างทั่วไปของ Study Plan
โดยหลักแล้ว Study Plan ประกอบด้วยองค์ประกอบทั่วไปคล้ายกับ SOP คือมีส่วนเกริ่นนำ เล่าประสบการณ์ ระบุจุดประสงค์และเป้าหมาย ส่วนให้เหตุผลประกอบว่าทำไมเลือกประเทศนี้ สถาบันนี้หรือหลักสูตรนี้ และส่วนเสริมอื่นๆ
แม้โดยปกติแล้ว SOP จะมีการพูดถึง study plan คร่าวๆ แต่ก็ไม่ได้ลงรายละเอียดมากเพราะต้องให้ความสำคัญในส่วนอื่นๆ เท่าๆ กัน โดยไม่ได้เน้นส่วน “แผนการศึกษา” นี้เป็นพิเศษ
อีกส่วนหนึ่งที่เราอาจจะพบเจอใน Study Plan คือ Personality คืออธิบายบุคลิก ลักษณะนิสัยส่วนตัวซึ่งในส่วนนี้เรามักจะไม่ค่อยพบใน SOP หรือ Admission Essay ทั่วไป ในส่วน Personality นี้ ก็ไม่ควรเป็นการเขียนชื่นชมหรือยกยอตัวเองทั่วๆไป การเขียนต้องมีการยกตัวอย่าง เช่น ถ้าบอกว่าเป็นชอบอ่านหนัสือ ก็ต้องอธิบายว่าชอบอ่านอะไร มากขนาดไหน และที่สำคัญกิจกรรมหรือนิสัยนั้น ช่วยส่งเสริมเราอย่างไรในการสมัครเรียนต่อครั้งนี้
2. ส่วนหลักที่ Study Plan ต่างจาก SOP คือ “แผนการศึกษา”
คือปกติใน SOP ทั่วไปเราจะพูดถึงแผนการศึกษา หรือ Academic interest ไว้บ้างอยู่แล้ว แต่ใน Study Plan ที่ใช้สมัครเรียนทางจีน ไต้หวัน ฮ่องกง หรือบางครั้งญี่ปุ่นหรือเกาหลี ผู้สมัครต้องอธิบายแผนการศึกษาอย่างค่อนข้างละเอียดยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวเนื้อหาหลักสูตร (Curriculum) หัวข้อที่ต้องการศึกษาหรือวิจัย (Topics of interest/Research topic) โปรเจคหรืองานทดลองต่างๆ ที่สนใจทำ (Project) รวมถึงการฝึกงาน (Internship) อาจจะต้องลงรายละเอียดแบ่งเป็นปีการศึกษาหรือภาคเรียน ว่าแต่ละภาคเรียนจะทำอะไรบ้าง คืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นส่วนที่ควรให้ความสำคัญมากที่สุด “ตามชื่อที่เขาเรียก Study Plan” นั่นเอง แนวทางการเขียนก็อาจจะเป็นไปได้หลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น
องค์ประกอบพิเศษของ Study Plan
การเขียนอธิบายวิชาที่จะเรียนในแต่ละเทอมหรือปีการศึกษา
ผู้สมัครสามารถอธิบายได้เลยว่าในแต่ละเทอม เราตั้งใจจะเรียนวิชาอะไรหรือศึกษาหัวข้ออะไรบ้าง ถ้าเป็นหลักสูตรวิจัย เราอาจจะแจ้งเลยว่าเราตั้งใจจะเริ่มทำวิจัยในขั้นตอนไหน (เก็บตัวอย่าง ทำแบบสำรวจ ศึกษาเรื่องใดๆ ฯลฯ)
หรืออาจจะให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าทำไมสนใจวิชานั้นๆ หรือประโยชน์ของการเรียน ศึกษาวิชาหรือหัวข้อดังกล่าว ว่าจะช่วยให้เราเข้าใจอะไรมากขึ้นบ้าง และจะช่วยในการบรรลุเป้าหมายในอนาคตเราอย่างไร
อย่างเช่น ถ้าเรียนหลักสูตร Business Analytics เราอาจจะกล่าวถึงว่าในเทอมแรกหรือปีแรกเราอยากเรียนวิชา Research Methodology (วิธีการด้านการวิจัย) และวิชา Fundamental analysis with Computer tools (พื้นฐานการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเครื่องมือคอมพิวเตอร์) หรือวิชา Business Fundamentals (พื้นฐานทางธุรกิจ) พร้อมให้เหตุผลว่าการเรียนวิชาดังกล่าวจะช่วยปูพื้นฐานและเสริมสร้างทักษะการวิจัย วิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจขั้นสูงได้ และเป็นทักษะที่ตำแหน่งงานในธุรกิจสมัยใหม่ต้องการอย่างมาก
การอธิบายหัวข้อ งานวิจัย
ถ้าหลักสูตรไหนมี Final thesis, dissertation หรืองานประเภทงานวิจัย ก็ควรอธิบายหัวข้อวิจัยที่เราสนใจศึกษา พร้อมอธิบายเหตุผล แรงจูงใจ พร้อมขั้นตอนการทำงานวิจัยนั้นคร่าวๆ และกล่าวถึงประโยชน์ของงานวิจัยดังกล่าวว่าสามารถนำไปต่อยอดหรือประยุกต์ใช้งานอย่างไรในอนาคต ในแวดวงหรือุตสาหกรรมไหน การลงรายละเอียดงานวิจัยใน Study Plan อาจจะไม่ต้องถึงขั้นเทียบเท่ากับ Research Proposal ที่การสมัครระดับปริญญาเอกหรือ Post-doc ซึ่งอันนั้นจะต้องเป็นเอกสารแยกออกไป และให้ข้อมูลที่เป็นเชิงลึกและเทคนิคมากกว่านี้
การอธิบายการฝึกงาน Internship
ในหลายหลักสูตร มักจะมีการฝึกงานตามหลักสูตรกำหนดไว้ ถ้าเป็นกรณีดังกล่าวก็ให้อธิบายแผนการฝึกงานแบบลงรายละเอียดไว้ด้วย สิ่งที่อาจจะกล่าวถึงเกี่ยวกับการฝึกงานใน Study Plan อาทิ ตำแหน่งงานหรือประเภทงานที่สนใจ อุตสาหกรรมหรือบริษัทที่สนใจ ความตั้งใจในการฝึกงาน เหตุผล และเป้าหมายทั้งระหว่างการฝึกงาน และหลังการฝึกงาน พร้อมอธิบายความเชื่อมโยงกับเป้าหมายหลังสำเร็จการศึกษาของเรา ว่าการฝึกงานนี้จะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายได้อย่างไร และได้ประโยชน์อะไรบ้าง
อธิบายแผนกิจกรรมทั้งในและนอกหลักสูตร
ในการเรียนต่อประเทศในหลายๆ หลักสูตรของหลายประเทศ สถาบันมักจะคาดหวังให้ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมเสริมหลักสูตร ทั้งที่ระบุในหลักสูตร (Curricular activities) ยกตัวอย่างเช่น การประชุม สัมนาทางวิชาการในหัวข้อที่เกี่ยวกับหลักสูตร การตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ การเขียนบทความลง Journal ต่างๆ หรือ การศึกษาดูงาน (Study visits) ที่ถูกกำหนดไว้โดยหลักสูตรชัดเจน ซึ่งบางครั้งผู้เรียนมีอิสระในเลือกทำกิจกรรมบางส่วน ก็ควรเขียนอธิบายเพิ่มเข้าไป หรือกิจกรรมที่ไม่ได้ระบุในหลักสูตร (Extracurricular activities) ยกตัวอย่าง งานสัมนา ประชุมทางวิชาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรโดยตรงแต่ช่วยส่งเสริมทักษะผู้เรียน เช่น งาน Business Review Meeting สำหรับนักศึกษาสายเศรษฐศาสตร์ที่จะช่วยพัฒนามุมมองต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ธุรกิจ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่หลักสูตรไม่ได้บังคับ แต่ผู้เรียนสมัครใจเข้าร่วม หรือกิจกรรมอื่นๆ อาทิ งานการกุศล อาสาสมัคร งานเพื่อสังคม การเข้าชมรวมต่างๆ ที่เป็นโอกาสให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะด้านการปฏบัติงานจริง การทำงานร่วมกับคนอื่น ทักษะผู้นำ สื่อสาร หรือการสร้างเครือข่ายวิชาชีพสำหรับอนาคต
แผนการเรียนภาษาและวัฒนธรรม
โดยเฉพาะในกรณีประเทศที่ใช้ภาษาที่สามเป็นภาษาหลัก (ประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก) มหาวิทยาลัยมักจะอยากทราบถึงแรงจูงใจด้านภาษาและวัฒนธรรมของผู้สมัคร แม้หลักสูตรจะสอนเป็นภาษาอังกฤษก็ตาม เช่น ทำไมเลือกภาษาจีนเป็นภาษาที่สาม มีความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมจีนอยู่ในระดับใดแล้ว มีวิธีการเตรียมตัวการเรียนภาษาอย่างไร ทั้งก่อนเดินทาง หรือเมื่ออยู่ในต่างประเทศแล้ว และมีเป้าหมายด้านภาษาอย่างไร
นี่คือประเด็นหลักๆ ที่อธิบายว่า Study Plan ต่างจาก SOP ทั่วไป อย่างไรบ้าง
ในส่วนพิเศษที่เพิ่มเข้ามาก็ไม่มีรูปแบบหรือแนวทางการเขียนที่ตายตัว ล้วนแต่ให้อิสระผู้สมัครในการนำเสนอตามเป้าหมายของแต่ละบุคคล เช่น บางคนอาจจะอธิบายส่วนกิจกรรมนอกหลักสูตรควบคู่กับแผนการเรียนภาษาและวัฒนธรรม หรือบางคนเน้นเขียนเป้าหมายในการฝึกงานเพราะต้องการนำความรู้ ทักษะจากฝึกงานมาใช้ตรงสายงานเมื่อเรียนจบ ในขณะที่บางคนก็เขียนเน้นงานด้านวิจัยเพราะเป้าหมายในอนาคตคือการเรียนต่อในระดับสูงขึ้นหรือทำงานในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย
หวังว่าผู้อ่านบทความนี้จะได้ความรู้เกี่ยวกับ Study Plan เพิ่มขึ้น ลองดูตัวอย่างด้านล่าง ซึ่งไม่ใช่ผลงานของเรา แต่เราได้รวบรวมมาจากแหล่งต่างๆ เพื่อให้ผู้อ่านบทความนี้ดูเป็นวิทยาทานเท่านั้น หากต้องการปรึกษาเราด้านการทำ Study Plan เรียนต่อ หรือขอดูตัวอย่างผลงาน Study Plan ของเราก็ติดต่อเรา PWK Translation ได้ที่นี่
ตัวอย่าง Study Plan ต่างจาก SOP (ลองสังเกตุส่วน Detailed Study Plan)
ลองสังเกตุส่วน Detailed Study Plan โดยเฉพาะตัวอย่างจาก CSC (เว็บไซต์รัฐบาลสำหรับสมัครเรียนต่อสถาบันในจีน)
หาข้อมูลและเรียบเรียงโดย ทีมงาน PWK Translation (All rights reserved)
Source:
cscguideofficial.com
academic.edu
chinaschooling.com
coursehero.com
Leave a Reply