วิธีเขียน Statement of Purpose SOP เบื้องต้น – ในการสมัครเรียนต่อต่างประเทศทุกครั้ง ทางสถาบันการศึกษามักจะขอ “เรียงความเรียนต่อ” หรือ Admission essay เป็นหนึ่งในเอกสารบังคับ ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งที่คุ้นเคยกันว่า Statement of Purpose หรือ SOP นั่นเอง (ดู sop คืออะไร?) ตอนที่แล้วได้บอกแล้วว่า “SOP ที่สมบูรณ์คือนอกจากจะสามารถบ่งบอกพื้นฐานผู้สมัคร เหตุผลและแรงบันดาลใจในการสมัครเรียน แผนการศึกษาและแผนการทางวิชาชีพในอนาคตได้แล้ว ยังสามารถบ่งบอกถึงทัศนคติและการมีวิสัยทัศน์ รวมถึงทักษะทางภาษาของผู้สมัครที่อาจมีผลโน้มน้าวคณะกรรมการรับสมัครได้อย่างสำเร็จ” เรามาลองดูหลักการเขียน Statement of Purpose หรือ SOP เบื้องต้นดูว่ามีขั้นตอนอย่างไร ต้องเริ่มต้นอย่างไร และควรทำอะไรบ้าง
วิธีเขียน SOP ขั้นแรก คือ การอ่านทำความเข้าใจกับหลักสูตรที่เราสมัครเรียน
ขั้นแรกไม่ใช่การเอากระดาษ ปากกาขึ้นมาวางโครงเรื่องแต่อย่างใด เราจะไม่สามารถเขียนเรียงความเรียนต่อได้เลย ถ้าหากเราไม่มีความเข้าใจในหลักสูตรและมหาวิทยาลัยที่กำลังสมัคร ผู้เขียนจำเป็นต้องมีความเข้าใจ “อย่างถ่องแท้” ถึงจุดประสงค์ของหลักสูตร รายชื่อวิชาที่เปิดสอน องค์ประกอบของหลักสูตร กิจกรรมเสริมหลักสูตร สภาพบรรยากาศ สิ่งแวดล้อม จุดเด่นของมหาวิทยาลัยที่สมัคร คือต้องเริ่มจากการอ่านหน้าเว็บไซต์หลักสูตรและสถาบันนั้นๆ จนเข้าใจอย่างดีเสียก่อน และลองประเมินดูอีกครั้งว่าใช่สิ่งที่เราต้องการศึกษาจริงๆ หรือไม่
ควรเขียน Statement of Purpose จากตัวเรา
เมื่อเข้าใจหลักสูตรและมหาวิทยาลัยที่สมัครแล้ว ขั้นต่อไปในการเขียน SOP คือต้องนั่งนึกคิดว่าคุณสมบัติ ประสบการณ์ที่ผ่านมาของเราสอดคล้องกับหลักสูตรที่กำลังสมัครเรียนอย่างไร อาจจะเอา CV/Resume ที่เราทำไว้มาเปิดดูประกอบความคิดของเราได้ ควรเรียงลำดับประสบการณ์หรือคุณสมบัติที่ตรงที่สุด จากนั้นลองนึกหาเหตุผลส่วนตัวว่าทำไมเราถึงอยากเรียนหลักสูตรและมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ลองให้เหตุผลที่หนักแน่นที่สุดสัก 2-3 เหตุผล ลองคิดถึงอนาคตหลังเรียนจบของเราว่ามีแผนต้องการทำอะไร จะประกอบอาชีพอะไรในบริษัทหรือทำธุรกิจส่วนตัว และลองนึกย้อนอีกทีว่าสิ่งที่เราอยากทำในอนาคตนั้น สอดคล้องกับจุดประสงค์ของหลักสูตรหรือไม่ เช่น เราคงไม่อยากเรียน “หลักสูตรที่มุ่งเน้นผลิตนักการตลาดมืออาชีพ” เพื่อสำเร็จการศึกษามาเป็น”นักทรัพยากรบุคคลในบริษัท”หรอก จริงไหม? คราวนี้เราจะเริ่มมองภาพออกทันทีว่าเราจะต้องนำเสนอประเด็นอะไรบ้าง ด้วยหลักการดังกล่าวทำให้ SOP เป็นสิ่งที่ไม่สามารถลอกจากคนอื่นหรือให้คนอื่นลอกไปได้ เพราะเป็นข้อมูลที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ส่วนตัวจริงๆ *ระวังการใช้บริการเขียน SOP จากอินเทอร์เนต เขาเขียนจากข้อมูลเฉพาะของเราขนาดไหน หรือใช้เทมเพลตเขียนให้ทุกคนคล้ายๆ กันไปหมด
วางโครงเรื่องให้กับ Statement of Purpose ของเรา
เขียน SOP ขั้นต่อไปคือการวางโครงเรื่อง หรือ Outline และจัดองค์ประกอบเบื้องต้น ว่าเราจะพูดถึงประเด็นใดบ้าง(จากสิ่งที่ได้คิดไว้ในขั้นตอนก่อนหน้า) ลองจัดลำดับองค์ประกอบและความสำคัญของประเด็นต่างๆ ให้ดี โดยจดรายการประเด็นหรือคำสำคัญต่างๆ ในกระดาษร่าง หรือจะทำเป็น Mind map ผังความคิดใดๆ ก็ได้
อาจจะลองคิดถึงประเด็นปัญหาในเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราต้องการศึกษา ในระดับมหภาคหรือภาพรวมที่กระทบสังคมท้องถิ่นไปจนถึงระดับโลก เพื่อจะได้เชื่อมโยงกับเหตุผลที่เราต้องการเรียนในสาขาดังกล่าว ตรงนี้สามารถใช้เป็นส่วนเกริ่นได้เป็นอย่างดี *ไว้จะมาแนะนำเทคนิคการเขียน SOP ไว้ในตอนหน้า
ลงมือร่าง SOP (Draft)
ขั้นต่อไปคือการลงมือเขียน Statement of purpose ของคุณแล้ว ตื่นเต้นไหมละ หลายคนไม่เคยฝึกเขียนมาก่อน ก็จะเริ่มต้นยากหน่อย แต่บอกเลยว่าถ้ามีการวางโครงเรื่องและวางประเด็นที่จะพูดถึงมาอย่างดีแล้ว ที่เหลือไม่ยากเลย ในหนึ่งประเด็นที่เราจะพูดถึงก็อาจจะขยายความ 3-4 ประโยค ถ้าประเด็นไหนสำคัญมากกว่าและอยากจะเน้น ก็อาจจะเพิ่มสัก 1-2 ด้วยการยกตัวอย่างประสบการณ์ในอดีตที่เกี่ยวข้องโดยตรง หรือความสำเร็จ ประสบการณ์ที่น่าภาคภูมิใจ
การใช้ภาษาในการเขียน SOP ทั่วไป ควรใช้ภาษาที่เรียบง่าย กระชับ ตรงประเด็นและดูเป็นผู้ใหญ่ ใช้คำเชื่อมประโยคที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมความเข้าใจของผู้อ่านอันได้แก่คณะกรรมการคัดเลือก(Admission Committee) หรืออาจารย์ประจำสาขาวิชา มีการใช้คำศัพท์เทคนิคและเฉพาะทางเพื่อแสดงความรู้ ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาของเรา มีการเน้นคำสำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับหลักสูตรที่สมัคร โดยไม่จำเป็นต้องแสดงอภินิหารใช้ภาษาระดับสูง ชนิดเดียวกับวรรณกรรมคลาสสิคของเชคสเปียร์เลยแม้แต่น้อย ยกเว้นบางสาขาวิชาที่เป็นด้านภาษาศาสตร์หรือวรรณกรรม ที่บางที Admission Committee ต้องการให้ผู้เขียน SOP แสดงความสามารถทางด้านภาษาเป็นพิเศษ *แต่ก็ไม่ควรเยอะเกินไป เพราะจะบั่นทอนความเข้าใจของผู้อ่านได้ (บางครั้งเจ้าของภาษาอ่านงานวรรณกรรม ยังไม่สามารถเข้าใจแบบ 100% ได้เลย) และอย่าลืมดูงื่อนไขของหลักสูตรเป็นหลักด้วย
ข้อแนะนำเดียวของการเขียน SOP ที่ดี คือ “การฝึกเขียน” เขียนไปเถอะ ไม่ว่าจะผิดหรือถูก ฝึกถ่ายทอดสิ่งที่ต้องการพูด ต้องการสื่อ เป็นประเด็นๆ โดยใช้ประโยคง่ายๆ S+V+O (ประธาน กริยา กรรม) จากนั้นก็ลองใช้เครื่องมือทางภาษาต่างๆ ช่วยตรวจสอบความถูกต้อง
ขั้นตอนตรวจทานเนื้อหาและขัดเกลาภาษาก่อนส่ง Statement of Purpose
หลังจากร่างโครงเรื่อง Outline และลงมือเขียนร่าง Draft แล้ว ขั้นต่อไปคือการตรวจทานและเกลาภาษาสำหรับ SOP ของคุณ จะเริ่มอย่างไรละ? ก็เริ่มที่การอ่านด้วยตัวเองก่อนเลย โดยก่อนอื่นดูเนื้อหาก่อน อ่านรู้เรื่องหรือไม่? เข้าใจง่ายหรือไม่? ประเด็นครบถ้วนหรือไม่? เนื้อหาสอดคล้องกับสิ่งที่หลักสูตรต้องการทราบหรือไม่? และสมมติว่าถ้าเราเป็นผู้อ่าน เราคิดว่าอะไรคือจุดเด่นของเรา จนต้องคัดเลือกเข้ามาเรียน? จากนั้นตรวจทานด้านภาษา ได้แก่ ความถูกต้องของการสะกด ไวยากรณ์ การใช้คำศัพท์ สำนวนต่างๆ รูปแบบประโยค กาลที่ใช้ (Tenses) และสุดท้ายตรวจสอบรูปแบบ ความน่าอ่าน ได้แก่ ความอ่านง่าย สบายตา ความเล็กใหญ่ของตัวหนังสือ การเว้นบรรทัด จำนวนคำ ตัวอักษร ฯลฯ *ในตอนหน้าเราจะมาคุยเรื่องรูปแบบมาตรฐานของ SOP
ถ้าเป็นไปได้ ควรให้คนอื่นช่วยอ่าน Statement of Purpose ของเราและให้ความคิดเห็น ข้อควรปรับปรุงต่างๆ ด้วย จะช่วยพัฒนางานเขียน SOP ให้เราดียิ่งขึ้น แนะนำว่าควรเลือกบุคคลที่มีคุณวุฒิ ความรู้ด้านภาษาและแนวโน้มจะช่วยเหลือเราเต็มที่ด้วย เช่น อาจารย์ รุ่นพี่ที่เคยเรียนต่างประเทศ
Statement of Purpose ไม่มีรูปแบบ ข้อบังคับที่ตายตัว
สำหรับ วิธีเขียน Statement of Purpose – รูปแบบ SOP ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของหลักสูตรและมหาวิทยาลัยที่สมัครกำหนดไว้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา ประเด็นที่ต้องนำเสนอ ความยาว(จำนวนคำ) ระดับภาษา ฯลฯ เราต้องปรับแต่งเนื้อหา SOP เราให้สอดคล้องกับ จุดประสงค์ของหลักสูตรและเนื้อหาที่เรียน (Program’s objective, Course syllabus) ให้มากที่สุด
สรุปการเขียน SOP เป็นศาสตร์และศิลป์ คือ “ศาสตร์” ที่ต้องเขียนประเด็นให้ครบถ้วน ถูกต้องตามหลักภาษา ไวยากรณ์ และเป็น “ศิลปะ” ตรงที่ผู้เขียนต้องหาวิธีนำเสนอให้ตรงใจกรรมการที่สุด โดยอาจจะใช้เทคนิคการเล่าเรื่อง การยกตัวอย่าง เทคนิคการใช้ภาษาที่กระชับแต่สวยงาม รวมถึงการนำเสนอประเด็นต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ
เรียบเรียงโดย PWK Translation – All Rights Reserved
ถ้าใครอยากปรึกษาเรื่องการเขียน SOP Statement of Purpose และ Admission Essay ประเภทอื่นๆ (Study Plan, Motivation letter, Personal Statement) สมัครเรียนต่อต่างประเทศ ปรึกษาเราได้นะ ยินดีให้คำปรึกษาฟรี!
SOP, Personal Statement, Study Plan, Motivation Letter สมัครเรียนต่อในและต่างประเทศ
ฝากติดตาม Facebook เราหน่อย https://www.facebook.com/pwktranslation/
Leave a Reply